วัฒนธรรมภาคเหนือ
Heritage North.
วัฒนธรรมและประเพณีท้องถิ่นภาคเหนือ
ตุง...ศิลปวัฒนธรรมภาคเหนือ
ตุง เป็นภาษาถิ่นประจำภาคเหนือซึ่งตรงกับคำว่า ธง ในภาษาไทยภาคกลางและตรงกับคำว่า ธุง ในภาษาท้องถิ่นอีสาน มีลักษณะเป็นแผ่นวัตถุ ส่วนปลายแขวนติดกับเสาห้อยเป็นแผ่นยาวลงมา ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2525 ได้ให้คำจำกัดความของคำว่า ธง ไว้ว่า “ ธง น. ผืนผ้าโดยมากเป็นสีและบางอย่างมีลวดลายเป็นรูปต่าง ๆ ที่ทำด้วยกระดาษหรือ สิ่งอื่น ๆ ก็มีสำหรับใช้เป็นเครื่องหมายบอกชาติ เครื่องหมายตามแบบสากลนิยม เครื่องหมายเดินทะเล อาณัติสัญญาณ ตกแต่ง สถานที่ในงานรื่นเริงหรือกระบวนแห่ …” การใช้ตุงทางภาคเหนือ ได้ปรากฏหลักฐานในตำนานพระธาตุดอยตุง ซึ่งกล่าวถึง การสร้าง พระธาตุไว้ว่า เมื่อพระมหากัสสปะเถระได้นำเอาพระบรมสารีลิกธาตุพระรากขวัญเบื้องซ้ายของพระพุทธเจ้า มาถวายแด่พระยา อชุตราชกษัตริย์แห่งราชวงศ์สิงหนวัติพระองค์ได้ทรงขอที่ดินของพญาลาวจก (ราชวงศ์ลวจังคราช) ในหมู่เขาสามเส้าเป็นที่ก่อ ร้างพระมหาสถูปนั้น ทำให้ทำตุงตะขาบยาวถึงพันวา ปักไว้บนยอดดอยปู่เจ้า ถ้าหางตุงปลิวไปเพียงใดกำหนดให้เป็นรากฐานสถูป
ภาพ ตุงไชยและตุงไส้หมู ใช้ประดับ ตกแต่งในพิธีมงคลและงานบุญ
ตุงมีหลายชนิด หลายแบบ หลายลักษณะ หลากรูปทรง ต่างลวดลาย และมากชนิดของวัสดุในการทำ รวมทั้งโอกาสต่าง ๆในการใช้ตุง จึงพอที่จะจำแนกออกเป็นประเภทได้ดังนี้
1. แบ่งตามวัสดุในการทำ
ตุงที่ทำจากกระดาษ ได้แก่ ตุงช้าง ตุงไส้หมู
ตุงที่ทำจากผืนผ้า ได้แก่ ตุงตะขาบ ตุงจระเข้ ตุงแดง ตุงซาววา ตุงพระบฏ
ตุงที่ทำด้วยกระดาษหรือผ้า ได้แก่ ตุงสามหาง ตุงที่ทอจากเส้นด้ายหรือเส้นไหม ได้แก่ ตุงไชย
ตุงที่ทำจากไม้หรือสังกะสี ได้แก่ ตุงกระด้าง
ภาพ ตุงไชยใช้ในการร่วมเดินขบวนเฉลิมฉลอง
2. ตุงที่ใช้ในงานประดับประดาหรือร่วมขบวน
ตุงซาววา มีความหมายมงคลใช้งานเหมือนตุงไชยแต่มีลักษณะยาวกว่า ไม่มีเสาที่ปัก ต้องใช้คนถือหลายคนนิยมให้ผู้ร่วมขบวนเดินถือชายตุงต่อ ๆ กัน
ตุงกระด้าง มักนิยมทำด้วยไม้แกะสลักและประดับกระจก ลงรักปิดทองด้วยลวดลายดอกไม้ต่าง ๆ ลายสัตว์ต่าง ๆ แบบถาวรและมักจะทำไว้ในที่ที่มีความสำคัญในพื้นที่ต่าง ๆ
3. ตุงที่ใช้ในงานพิธีมงคล
ตุงไชย เป็นเครื่องหมายบอกถึงความเป็นสิริมงคล ทำได้โดยการทอจากด้ายหรือสลับสีเป็นรูปเรือ รูปปราสาทหรือลวดลายมงคล ใช้เพื่อถวายเป็นพุทธบูชาและเป็นเครื่องหมายบอกให้รู้ว่า ในบริเวณนั้นจะมีงานฉลองสมโภชโดยจะปักตุงไว้ห่างกันประมาณ 8-10 เมตร เป็นแนวสองข้างถนนสู่บริเวณงาน และยังนิยมใช้ในการเดินขบวนเมื่อมีงานเฉลิมฉลองต่าง ๆ
ตุงช้าง ส่วนใหญ่ทำด้วยกระดาษมีลักษณะการนำไปใช้งานเช่นเดียวกับตุงไชย
ตุงพระบฏ จะเขียนภาพเกี่ยวกับพุทธประวัติ จะประดับตุงไว้ด้านหลังของพระประธานในโบสถ์ โดยการแขวนไว้กับผนังด้านหลังพระประธานทั้งสองข้าง
ตุงตะขาบ ตุงจระเข้ จะมีรูปตะขาบและจระเข้อยู่ตรงกลาง ปักไว้เป็นการแสดงว่าวัดนี้จะมีการทอดกฐิน หรือแห่นำขบวนไปยังวัดที่จองกฐินไว้
ตุงไส้หมู เป็นพวงประดิษฐ์รูปร่างคล้ายจอมแหหรือปรางค์ ใช้ประดับตกแต่งงานพิธีบุญต่าง ๆ เพื่อความสวยงาม
4. ตุงที่ใช้ในงานพิธีอวมงคล
ตุงแดง หรือเรียกว่า ตุงค้างแดง ตุงผีตายโหง จะปักตุงแดงไว้ตรงบริเวณที่ผู้ตายโหงแล้วก่อเจดีย์ทรายกองเล็ก ๆ เท่ากับอายุของผู้ตายไว้ในกรอบสายสิญจน์โดยเชื่อว่าผู้ตายจะได้หมดทุกข์และเป็นการปักสัญลักษณ์เตือนว่าจุดนี้เกิดอุบัติเหตุ
ตุงสามหาง มีความเชื่อตามคติของพระพุทธศาสนาว่า อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา หรือมีความเชื่อว่าคนเราตายแล้วต้องไปเกิดใหม่ในภพใดภพหนึ่ง หรือหมายถึงพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ใช้ในการเดินนำขบวนศพ ชาวเหนือมีจุดมุ่งหมายในการใช้ตุงเพื่อเป็นพุทธบูชามานาน และยังเชื่อว่าการได้ถวายตุงเป็นการสร้างกุศลให้กับตนเองใช้ในการสะเดาะเคราะห์ขจัดภัยพิบัติต่าง ๆ ให้หมดไป และยังเป็นการอุทิศให้ผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว นอกจากนี้จุดมุ่งหมายในการใช้ตุงที่สำคัญอีกอย่างคือการใช้เพื่อการเฉลิมฉลองศาสนสถาน ศาสนวัตถุ หรือสิ่งที่เป็นสาธารณประโยชน์อีกด้วย แต่ในปัจจุบันอาจจะเห็นได้ว่าเมื่อความเจริญทางวัตถุเริ่มเข้ามาแทนที่ รูปแบบการผลิตของสังคมเปลี่ยนไป ก็ทำให้รูปแบบของการใช้ตุงเริ่มเปลี่ยนแปลงจากการสนองตอบความต้องการทางด้านจิตใจเป็นส่วนใหญ่ กับเป็นการใช้ตุงเป็นเพียงสัญลักษณ์ของชาวเหนือ และเน้นทางด้านธุรกิจมากขึ้นอย่างเช่น เราอาจเห็นตุงไปจัดอยู่ในโรงแรม ตามเวทีประกวดนางงาม หรือการจัดงานอะไรก็ตามแต่จะต้องมีตุงเข้าไปเป็นองค์ประกอบด้วยเสมอจนไม่อยากคิดเลยว่าสาระความสำคัญและหน้าที่ของตุงมันเลอะเลือนไปแล้ว คนรุ่นนี้ควรอนุรักษ์เพื่อเป็นการสืบสานภูมิปัญญาท้องถิ่น อันเป็นศิลปวัฒนธรรมและคติความเชื่อของบรรพชนให้อยู่คู่กับคนภาคเหนือต่อไป
ประเพณีลอยโคม

ประเพณีหนึ่งที่ชาวล้านนาถือปฏิบัติคู่ไปกับประเพณียี่เป็งก็คือการลอยโคม การลอยโคมของชาวล้านนาเป็นการปล่อยโคมขึนไปสู่ท้องฟ้า แทนการลอยกระทงในลำน้ำอย่างประเพณีของคนภาคกลาง ชาวล้านนาเชื่อว่าการจุดโคมลอย แล้วปล่อยขึ้นฟ้า เป็นการบูชาพระเกตุแก้วจุฬามณี บนสวรรค์ และยังเป็นการปล่อยทุกข์ปล่อยโศก และเรื่องร้าย ให้ออกไปจากตัว
ชาวล้านนาเชื่อกันว่า ในวันประเพณียี่เป็ง ชาวล้านนาที่เกิดปีจอต้องนมัสการพระธาตุแก้วจุฬามณีซึ่งเป็นสถานที่บรรจุมวยผมของเจ้าชายสิทธัตถะที่ปลงออกก่อนจะบวช แต่เนื่องจากเจดีย์นี้เชื่อกันว่าอยู่บนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ชาวล้านนาที่เกิดปีจอจึงต้องอาศัยโคมลอยปล่อยขึ้นสู่ท้องฟ้าแทนเครื่องบูชาพระธาตุเกศแก้วจุฬามณี
ตัวโคมทำจากกระดาษสาสีสันสวยงาม ติดบนโครงไม้ไผ่ ตรงกลางโคมจะมีตะเกียงติดชนวนสำหรับจุดไฟ เมื่อจุดไฟที่ตะเกียง ความร้อนจะดันพาโคมลอยให้ลอยขึ้นสู่ท้องฟ้า
ชนิดของโคมลอยยังสามารถแยกได้เป็น ๒ แบบตามการใช้งานอีกด้วย
๑ โคมที่ใช้ปล่อยในตอนกลางวัน จะเป็นโคมที่อาศัยควันไฟเข้าไปรวมตัวอยู่ในโคมจนเต็ม ช่วยพยุงให้โคมลอยสูงขึ้นไปบนท้องฟ้า
๒. โคมที่ใช้ปล่อยในตอนกลางคืน โคมชนิดนี้อาศัยความร้อนจากไฟที่ลุกไหม้ไส้โคมที่อยู่ที่ฐานโคม เป็นตัวเร่งให้โคมลอยสูงขึ้นไปบนท้องฟ้า ปัจจุบันเป็นโคมที่นิยมปล่อยกันมากที่สุด เนื่องจากโคมลอยสูงขึ้นไปบนท้องฟ้าในตอนกลางคืน แสงไฟจากโคมยังสามารถมองเห็นได้ชัดเจน
แต่เดิมประเพณีลอยโคมนี้คนไทยได้รับอิทธิพลมาจากพิธีทางพราหมณ์ที่จะทำการลอยโคมเพื่บูชาเทพเจ้า เมื่อชาวไทยรับเอาอิทธิพลของพราหมณ์เข้ามา จึงนำพิธีลอยโคมมาใช้สำหรับบูชาพระบรมสารีริกธาตุ บูชาพระพุทธบาท ณ ริมหาดแม่น้ำนัมฆทานที ในประเทศอินเดียในคืนวันลอยกระทง หรือประเพณียี่เป็งของชาวล้านนา ซึ่งในคืนยี่เป็งของจังหวัดทางภาคเหนือ ท้องฟ้าจงสว่างไสวไปด้วยแสงจากโคมลอยที่ชาวล้านนาจุดขึ้นและปล่อยลอยขึ้นสู่ท้องฟ้า เป็นภาพที่สวยงามน่าประทับใจสำหรับผู้ที่พบเห็นโดยเฉพาะนักท่องเที่ยวชาวไทยและช่างต่างชาติ
ประเพณีตานก๋วยสลาก

ประเพณีตานก๋วยสลากหรือสลากภัตนี้เป็นประเพณีที่ชาวล้านนาแสดงความระลึกถึงบรรพบุรุษญาติมิตรผู้ล่วงลับไปแล้วด้วยการทำบุญอุทิศส่วนกุศลไปให้ผ่านสิ่งที่เรียกว่า ก๋วยสลาก
ก๋วยสลาก สานจากไม้ไผ่เป็นรูปทรงกระบอก (ชะลอม) ข้างในกรุด้านข้างด้วยใบตอง สำหรับบรรจุข้าวสาร อาหารแห้ง ผลหมากรากไม้ ของใช้จำเป็น ดอกไม้ธูปเทียน โดยชาวบ้านจะนำก๋วยสลากของแต่ละคนไปรวมกันที่วัดเพื่อทำพิธีทางศาสนา
จากนั้นก็จะมีการสุ่มแจกสลากให้กับพระแต่ละรูปโดยที่ไม่มีใครทราบว่าในตานก๋วยสลากนั้นมีอะไรอยู่ข้างในบ้าง พระรูปใดจับได้ตานก๋วยสลากของใครก็จะเรียกชื่อเจ้าของตานก๋วยสลากนั้นออกมารับศีลรับพร และกรวดน้ำอุทิศบุญกุศลให้กับผู้ล่วงลับไปแล้ว ส่วนสิ่งของในตานก๋วยสลาก หากมีเหลือเฟือมากพระภิกษุก็จะนำไปแจกจ่ายให้กับผู้ยากไร้อีกต่อหนึ่ง
คำว่า ตานก๋วยสลาก เป็นภาษาของชาวล้านนา หากเป็นภาษาภาคกลางจะตรงกับคำว่า สลากภัต ประเพณีตานก๋วยสลากทางภาคเหนือนิยมจัดกันในช่วงเดือน ๑๒ เหนือถึงเดือนยี่เหนือ หรือตั้งแต่เดือนกันยายนจนถึงเดือนตุลาคมของทุกปี
โดยมากแล้วชาวล้านนาจะจัดงานตานก๋วยสลากในช่วงที่ทำนาเสร็จแล้ว เป็นช่วงที่ได้หยุดพักผ่อนกัน พืชพันธ์ผลไม้ต่างๆ ก็ออกลูกออกผล พระสงฆ์เองก็ยังอยุ่ในช่วงเข้าพรรษา ไม่ได้ไปจำพรรษาทีไหน ประจวบกับในช่วงเวลานั้น ชาวบ้านที่ขัดสน ข้าวที่เก็บเกี่ยวเอาไว้ในยุ้งฉางก็เริ่มจะหร่อยหรอ การจัดงานตานก๋วยสลากจึงเป็นการฝึกตนให้รู้จักการให้ทาน เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ สังเคราะห์คนยากคนจน
ก่อนที่จะถึงวันงานตานก๋วยสลาก ทางภาคเหนือจะเรียกว่า วันดา หรือวันสุกดิบ ชาวบ้านจะจัดเตรียมอาหาร ข้าวของเครื่องใช้ต่างๆ แล้วนำมาจัดใส่ก๋วยสลาก (ชะลอมไม้ไผ่) ที่กรุด้วยใบตอง เมื่อใส่ของลงไปในก๋วยสลากแล้วก็จะมัดปากให้เรียบร้อย จากนั้นก็จะเหลาไม้ไผ่เป็นก้านเล็กๆสำหรับเป็นยอดก๋วยสลาก เอาไว้สำหรับเสียบสตางค์ กล่องไม้ขีดไฟ หรือบุหรี มากน้อยตามฐานะและศรัทธา สมัยก่อนจะนำใบลานมาทำเป็นเส้นสลากแทนกระดาษสำหรับเขียนระบุไปว่า อุทิศตานก๋วยสลากให้กับใคร อาจเป็นบรรพบุรุษ ญาติพี่น้องที่ล่วงลับไปแล้ว
เมื่อถึงวันถวายตานก๋วยสลาก ก็จะนำตานก๋วยสลากไปรวมกันที่หน้าวิหารที่วัดเพื่อทำพิธีทางศาสนา หลังจากนั้นก็จะนำเส้นสลากจากญาติโยมมาแจกแบ่งให้กับพระภิกษุแต่ละรูป แล้วอ่านเรียกชื่อเจ้าของสลากนั้น จากนั้นพระภิกษุที่ได้สลากของญาติโยมคนใดก็จะให้ศีลให้พรกับเจ้าของสลาก และกรวดน้ำอุทิศบุญกุศลให้กับผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว
สำหรับก๋วยสลากที่ทำกัน แบ่งได้ ๓ แบบ
ก๋วยน้อย ใช้สำหรับอุทิศให้กับบรรพบุรุษ หรือผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว จะเป็นญาติพี่น้อง เป็นมิตรสหาย หรือแม้แต่สัตว์เลี้ยงที่เคยอยู่ด้วยกันมาก็ได้ ทั้งช้าง ม้า วัว ควาย แมว และสุนัข หรือถ้าไม่ได้ถวายทานให้กับใครเป็นพิเศษ ก็สามารถถวายเอาไว้ภายภาคหน้าก็ได้
ส่วน ก๋วยใหญ่ จะเป็นก๋วยที่ทำขึ้นมาเป็นพิเศษ สามารถจุของได้มากกว่า ส่วนใหญ่แล้วจะเป็นผู้ที่มีฐานะดีที่ต้องการทำบุญอุทิศบุญกุศลไปให้กับพ่อแม่หรือญาติผู้ใหญ่ที่ล่วงลับไปแล้ว
สลากโชค จะต่างจากก๋วยสองแบบแรกอย่างชัดเจน สลากโชคจะทำเลียนแบบต้นไม้สูงใหญ่ แล้วนำสิ่งของต่างๆ ไปแขวนไว้บนต้นไม้ เช่น ผ้าห่ม ที่นอน หมอน มุ้ง ถ้วยขาม เครื่องนุ่งหุ่ม อาหารแห้ง และเงินทอง
ประเพณีทำบุญสลากภัตหรือตานก๋วยสลากครั้งแรกในพระพุทธศาสนาเกิดขึ้นตามตำนานที่เล่าสืบๆ กันมาของปู่ย่าตายายถึงนางยักษ์ตนหนึ่งที่เมื่อได้ฟังพระธรรมคำสอนขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้วเกิดเสื่อมใสศรัทธา กลับเนื้อกลับตัว ที่เคยใจคอโหดเหี้ยมก็กลายเป็นผู้มีน้ำใจเอื้อเฟื้อแก่คนทั่วไป จนผู้คนพากันชื่นชมในน้ำใจของนางยักษ์ตนนั้นจนนำสิ่งของต่างๆ มาแบ่งให้เป็นจำนวนมาก นางยักษ์จึงนำข้าวของที่ได้รับมานั้นมาทำสลากภัต แล้วให้พระสงฆ์ สามเณรจับสลาก โดยของที่นำมาทำสลากภัตนั้นมีทั้งของมีค่าราคาแพง และราคาไม่แพง แตกต่างกันไปตามแต่สงฆ์หรือสามเณรรูปใดจะได้ไป
ประเพณีแข่งขันเรือยาวประเพณี

การแข่งขันเรือยาวประเพณี มรดกวัฒนธรรมทางสายน้ำที่สะท้อนถึงวิถีชีวิตที่ผูกพันกับสายน้ำ เรือและผู้คน บนพื้นฐานความสามัคคีพร้อมเพรียง เป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันของคนในชุมชน ประเพณีการแข่งขันเรือยาวที่มักจัดคู่ไปกับการเข้าวัดทำบุญตักบาตร เนื่องในเทศกาลออกพรรษา ทอดกฐินผ้าป่าสามัคคี
ประเพณีแข่งขันเรือยาวประเพณีนี้ เป็นเกมกีฬาเก่าแก่ย้อนกลับไปถึงสมัยอยุธยากรุงเก่า เป็นที่นิยมเล่นกันทั้งภายในพระราชวังไปจนถึงชาวบ้านร้านตลาด ดังที่มีปรากฏในกฏมณเทียรบาลเกี่ยวกับพระราชพิธีต่างๆ ในสมัยกรุงศรีอยุธยา ที่ได้กล่าวถึงพระราชพิธีเดือน ๑๑ จะมีการแข่งเรือยาวขึ้น เพื่อเป็นการฝึกปรือกำลังพลทหารประจำกองเรือ
ส่วนการแข่งขันเรือยาวประเพณีของชาวบ้านทั่วไป จัดขึ้นเพื่อเป็นส่วนหนึ่งของการละเล่นในช่วงเทศกาลทอดกฐินด ทอดผ้าป่า ซึ่งจะจัดขึ้นในช่วงเดือน ๑๑ – ๑๒ ซึ่งจะตรงกับฤดูน้ำหลากพอดี ชาวบ้านที่ตั้งบ้านเรือนอยู่ริมน้ำซึ่งใช้เรือเป็นพาหนะอยู่แล้ว เมื่อถึงหน้ากฐิน ผ้าป่าสามัคคีก็มักจะนิยมนำเรือมาร่วมขบวนแห่ผ้ากฐิน องค์ผ้าป่าไปยังวัดอยู่แล้ว หลังพิธีการทางศาสนาจบลง จะมีการแข่งเรือกันขึ้นเพื่อความสนุกสนาน
ปัจจุบันการแข่งขันเรือยาวพัฒนาจากการละเล่น กีฬาเชื่อมความสามัคคีของคนในชุมชนกลายเป็นเกมกีฬาระดับประเทศชิงถ้วยพระราชทานพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯวันนี้ กลายเป็นกีฬาทางน้ำที่ได้รับความนิยมแพร่หลายในหลายๆ สนามแข่งขัน ตามลุ่มน้ำสำคัญในประเทศ เช่น ประเพณีแข่งขันเรือยาวจังหวัดพิจิต การแข่งขันเรือยาวจังหวัดน่าน การแข่งขันเรือยาวจังหวัดชุมพร และจังหวัดอื่นๆ ที่เป็นลุ่มน้ำสำคัญในประเทศไทย
การแบ่งประเภทการแข่งขันเรือยาว จะแบ่งตามขนาดของเรือ เรือยาวใหญ่ ๔๑ – ไม่เกิน ๕๕ ฝีพาย เรือยาวกลาง ฝีพาย ๓๑ – ไม่เกิน ๔๐ ฝีพาย และเรือยาวเล็กที่มีฝีพายไม่เกิน ๓๐ ฝีพาย โดยเรือจะขุดขึ้นจากต้นตะเคียนทั้งต้นโดยช่างขุดเรือที่มีฝีมือในการขุดเรือ ส่วนระยะทางที่ใช้แข่งขัน จะมีระยะทางประมาณ ๖๐๐ – ๖๕๐ เมตร โดยจะมีทุ่นบอกระยะทุกๆ ๑๐๐ เมตร
กติกาการแข่งขันเรือยาวประเพณี ใช้ระบบแพ้คัดออก โดยจับคู่แข่งขันกัน หากเรือฝ่ายใดแข่งชนะ ๒ ครั้ง ถือว่าเป็นฝ่ายชนะ แต่ถ้าผลัดกันแพ้ผลัดกันชนะ ฝ่ายละเที่ยวก็จะต้องมาตัดสินในการแข่งเที่ยวที่ ๓
จุดประสงค์สำคัญของการจัดแข่งขันเรือยาวประเพณี ไม่ว่าจะเป็นสนามใดก็ตาม คือ สร้างความสามัคคีของฝีพายในเรือลำเดียวกัน ความเสียสละของฝีพายที่จะต้องขยันหมั่นซ้อมพาย ทุ่มเททั้งแรงกายแรงใจ ความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน และเสน่ห์ของเกมกีฬาประเภทนี้อีกอย่างก็คือ จังหวะ ความพร้อมเพรียงในการพาย การจ้วงพายให้เร็วขึ้นเมื่อเข้าใกล้เส้นชัย กระชับ รวดเร็วแต่พร้อมเพรียงกัน การแข่งขันที่ให้คนดูได้ลุ้นอยู่ตลอดเวลา และการพากย์เสียงของพิธีกรประจำสนามที่ต้องยอมรับว่าสร้างความตื่นเต้นเร้าใจให้กับการแข่งขันได้ไม่น้อยเลยทีเดียว
ประเพณีปักธงชัย

ชาวนครไทย จังหวัดพิษณุโลกมีความเชื่อและศรัทธากับประเพณีหนึ่งที่ถือปฏิบัติสืบทอดกันมายาวนานและกลายเป็นประเพณีที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะของชาวนครไทยที่จะต้องจัดขึ้นเป็นประจำทุกปี ประเพณีที่ว่าคือประเพณีปักธงชัยหรือการแห่ธงขึ้นไปปักบนยอดเขาช้างล้วง
ในวันขึ้น ๑๔ – ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๒ ชาวนครไทย เมืองพิษณุโลก ต่างพากันจัดขบวนแห่ธงที่ทอขึ้นเอง ๓ ผืน ขึ้นไปปักยังยอดเขาทั้งสามยอดบนเทือกเขาที่ทอดตัวยาวขนานไปกับถนนหมายเลข ๑๑๔๓ (นครไทย – ชาติตะการ) ซึ่งห่างไปจากอำเภอนครไทยประมาณ ๖ กิโลเมตร
ชาวนครไทยมีความเชื่อเกี่ยวกับประเพณีปักธงชัยอยู่หลายอย่าง เช่น ความเชื่อที่ว่าการปักธง บ้านเมืองจะร่มเย็นเป็นสุข หากปีไหนไม่ได้ทำ จะเกิดอาเภทกับบ้านเมือง บ้างก็เชื่อว่าการปักธงเป็นการระลึกถึงการประกาศชัยชนะของพ่อขุนบางกลางท่าว หรือความเชื่อที่ว่าการชักธงขึ้นเป็นอาณัติสัญญาณให้มีการเตรียมไพร่พลไว้รับมือกับศัตรูที่เข้ามารุกราน ซึ่งความเชื่อเกี่ยวกับชัยชนะของพ่อขุนบางกลางท่าว ดูจะเป็นความเชื่อที่มีอิทธิพลมากที่สุด จึงได้ตั้งชื่อประเพณีนี้ว่า ประเพณีปักธงชัย
สำหรับกิจกรรมที่เกิดขึ้นในวันประเพณีปักธงชัยในอดีตนั้น จะเริ่มจากวันขึ้น ๑๔ ค่ำ ผู้นำหมู่บ้านหรือชุมชนต่างๆ จะออกประกาศบอกเรี่ยไรฝ้ายจากชาวบ้านในชุมชน แล้วนัดกันเอาฝ้ายมารวมเป็นกองกลางที่บ้านของผู้นำหมู่บ้าน ปั่นฝ้าย แล้วนำฝ้ายที่ปั่นได้ไปทอจนได้เป็นผืนธง จำนวน ๓ ผืน กว้างประมาณ ๕๐ เซนติเมตร ยาว ๔ เมตร ชายธงตกแต่งสวยงามด้วยใบโพธิ์ที่ทำจากไม้ แล้วนำไม้ไผ่ยาว ๑ ฟุต มาใส่หัวท้ายผืนธง
ส่วนในวันขึ้น ๑๕ ค่ำ ชาวบ้านจะนำอาหารคาวหวาน และนิมนต์พระภิกษุขึ้นไปยังเทือกเขาช้างล้วงเพื่อฉันเพลขึ้นที่นั่น หลังจากนั้นจะมีการถวายธงผ้าขาวกับพระภิกษุ และการสวดชัยมงคลคาถา ก่อนที่ชาวบ้านจะนำธงผ้าขาวผูกติดด้ามไม้ไผ่ขึ้นไปปักบนยอดเขาทั้งสามยอด คือ ยอดเขาฉันเพล ยอดเขายั่นไฮ ยอดเขาเขาช้างล้วง หลังเสร็จพิธีก็จะมีการร้องรำทำเพลงด้วยดนตรีพื้นบ้านอย่างสนุกสนานลงมาจากยอดเขา
จะเห็นว่าประสงค์สำคัญของประเพณีปักธงชัยนี้ คือ การสร้างความสามัคคี กลมเกลียวกันของคนในชุมชนที่ร่วมแรง ร่วมใจในการปั่นฝ้าย ทอเป็นผืนธง และยังเป็นการแสดงถึงความกตัญญูรู้คุณบรรพบุรุษที่ได้เสียสละ เอาชีวิตเข้าแลกเพื่อแผ่นดินที่อยู่อาศัย




ประเพณีนบพระเล่นเพลง

ในวันมาฆบูชาหรือวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๓ ตามปฏิทินไทย หลายๆ จังหวัดต่างจัดให้มีการทำบุญตักบาตร เข้าวัดฟังเทศน์กันเป็นประเพณีนิยม แต่สำหรับชาวกำแพงเพชรแล้ว ในวันเพ็ญเดือนสามนี้ จะมีประเพณีสำคัญที่เป็นเอกลักษณ์ของชาวกำแพงเพชรปฏิบัติสืบทอดกันมาจนถึงปัจจุบัน ชื่อว่า ประเพณีนบพระ – เล่นเพลง
ประเพณีนบพระ – เล่นเพลงนี้มีที่มาอ้างอิงจากบันทึกบนศิลาจารึกศรีนครชุม หลักที่ ๓ ได้บันทึกเอาไว้ว่า “ผู้ใดไหว้นบ กระทำบูชาพระศรีรัตนมหาธาตุ และพระศรีมหาโพธิไซร์ มีผล อานิสงส์พร่ำเสมอดังได้นบพระผู้เป็นเจ้า” เนื่องจากในหลักศิลาได้กล่าวไว้อีกว่า ในสมัยแผ่นดินพระเจ้าลิไทหรือพระเจ้าทรงธรรมแห่งสุโขทัย เป็นยุคสมัยที่พุทธศาสนาเฟื่องฟูรุ่งเรืองเป็นอย่างมาก พระศาสนาได้เผยแพร่ไปทั่วสารทิศ มีการอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุจากประเทศศรีลังกามาบรรจุไว้ในองค์เจดีย์ที่วัดพระพรมธาตุเจดียาราม จังหวัดกำแพงเพชร ในการนี้ได้นำต้นพระศรีมหาโพธิมาปลูกไว้ที่ด้านหลังองค์เจดีย์ด้วย
นับจากนั้นเป็นต้นมา เมื่อถึงวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๓ หรือวันเพ็ญมาฆบูชา กษัตริย์และญาติวงศ์ ข้าราชบริพาร ไพร่ฟ้าประชาชน จะจัดขบวนพยุหยาตราอย่างงดงาม เคลื่อนขบวนไปนมัสการพระบรมสารีริกธาตุ ณ วัดพระบรมธาตุ เป็นประเพณีปฏิบัติสืบต่อกันมา

คำว่า นบ เป็นคำโบราณ หมายถึงการกราบไหว้หรือสักการะ ประเพณีนบพระ – เล่นเพลง จึงหมายถึง ประเพณีนมัสการพระบรมสารีริกธาตุที่เปรียบเสมือนตัวแทนขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า และมีการละเล่นเฉลิมฉลองที่เรียกว่า เล่นเพลง โดยในวันนั้น เจ้าฟ้า เจ้าแผ่นดิน ข้าราชบริพาร ไพร่ฟ้าประชาชนจะร่วมกันจัดขบวนแห่เพื่อไปมนัสการพระบรมสารีริกธาตุ ที่วัดพระบรมธาตุ กำแพงเพชร
ประเพณีนบพระ-เล่นเพลงในแผ่นดินพระเจ้าลิไท จังหวัดกำแพงเพชร
เนื่องจากการเดินทางสมัยก่อนเป็นไปด้วยความยากลำบาก ต้องอาศัยสัตว์พาหนะ ช้าง ม้า วัวควาย หรือการเดินเท้า ทำให้การเดินทางไปนมัสการพระบรมสารีริกธาตุกินเวลาข้ามวันข้ามคืน กว่าจะไปถึงวัดพระบรมธาตุก็สิ้นแสงพระอาทิตย์ไปแล้ว จึงต้องมีการค้างแรมก่อนที่จะเดินทางกลับในวันรุ่งขึ้น ระหว่างที่พักผ่อนในตอนกลางคืน เพื่อไม่ให้บรรยากาศเงียบเหงา ชาวบ้านจึงจัดให้มีการแสดง การละเล่นต่างๆ ขึ้น จนถึงขั้นมีการประกวดประขันกันระหว่างชุมชน เรียกว่า การเล่นเพลง
ปัจจุบันชาวกำแพงเพชรยังคงยึดถือปฏิบัติประเพณีนบพระ – เล่นเพลงเฉกเช่นเดียวกับสมัยก่อน โดยจะมีการจัดงานประเพณีในวันมาฆบูชาของทุกปี มีการจัดขบวนแห่อย่างงดงาม แห่แหนข้ามแม่น้ำปิงไปสักการะพระบรมสารีริกธาตุ ที่วัดพระบรมธาตุ มีมหรสพสมโภช การละเล่นทางวัฒนธรรมต่างๆ เพื่อเป็นการฟื้นฟูและอนุรักษ์ประเพณีโบราณนี้ให้ตกทอดไปถึงลูกหลาน
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น