วัฒนธรรมภาคอีสาน
Isan culture
Isan culture
วัฒนธรรมและประเพณีท้องถิ่นภาคอีสาน
ภาคอีสานเป็นภูมิภาคที่มีความหลากหลายทางศิลปวัฒนธรรมและประเพณี แตกต่างกันไปในแต่ละท้องถิ่นแต่ละจังหวัด ศิลปวัฒนธรรมเหล่านี้เป็นตัวบ่งบอกถึงความเชื่อ ค่านิยม ศาสนาและรูปแบบการดำเนินชีวิตตลอดจนอาชีพของคนในท้องถิ่นนั้นๆได้เป็นอย่างดี สาเหตุที่ภาคอีสานมีความหลากหลายทางศิลปวัฒนธรรมประเพณีส่วนหนึ่งอาจจะเป็นผลมาจาก การเป็นศูนย์รวมของประชากรหลากหลายเชื้อชาติ และมีการติดต่อสังสรรค์กับประชาชนในประเทศใกล้เคียง จนก่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมขึ้น เช่น ประชาชนชาวอีสานแถบจังหวัดเลย หนองคาย นครพนม มุกดาหาร อุบลราชธานี อำนาจเจริญ ที่มีพรมแดนติดต่อกับประเทศลาว ประชาชนของทั้งสองประเทศมีการเดินทางไปมาหากัน ทำให้เกิดการถ่ายทอดและแลกเปลี่ยนศิลปวัฒนธรรมและประเพณีระหว่างกัน ซึ่งเราจะพบว่าชาวไทยอีสานและชาวลาวแถบลุ่มแม่น้ำโขงมีศิลปวัฒนธรรมประเพณีที่คล้ายๆกัน และรูปแบบการดำเนินชีวิตก็มีความคล้ายคลึงกันด้วย รวมทั้งชาวเวียดนามที่อพยพเข้ามาในช่วงสงครามเวียดนาม ก็ได้นำเอาศิลปวัฒนธรรมของเวียดนามเข้ามาด้วย ถึงแม้ปัจจุบันชาวเวียดนามเหล่านี้จะได้ปรับตัวเข้ากับวัฒนธรรมของท้องถิ่นอีสาน (เพื่อให้การดำรงชีวิตเป็นไปอย่างราบรื่น) โดยเฉพาะชาวเวียดนามที่เป็นวัยรุ่นในปัจจุบันได้รับการศึกษาที่ดีเหมือนกับชาวไทยทุกประการ จนแทบแยกไม่ออกว่าเป็นคนไทยอีสานหรือคนเวียดนามกันแน่ ส่วนใหญ่ก็จะเห่อวัฒนธรรมตะวันตก(เหมือนเด็กวัยรุ่นของไทย)จนลืมวัฒนธรรมอันดีงามของตัวเอง แต่ก็ยังมีชาวเวียดนามบางกลุ่มส่วนใหญ่เป็นคนสูงอายุยังคงยึดมั่นกับวัฒนธรรมของตนเองอยู่อย่างมั่นคง ท่านสามรถศึกษารูปแบบการดำเนินชีวิตแบบเวียดนามได้ตามชุมชนชาวเวียดนามในจังหวัดที่กล่าวมาแล้ว ส่วนประชาชนที่อยู่ทางจังหวัดสุรินทร์ บุรีรัมย์ ศรีสะเกษ นครราชสีมา มีการติดต่อกันกับประชาชนชาวกัมพูชาก็จะรับเอาวัฒนธรรมของกัมพูชามาประยุกต์ใช้ ซึ่งส่วนใหญ่แล้ววัฒนธรรมประเพณีของคนทั้งสองเชื้อชาติก็มีความคล้ายคลึงกันอยู่แล้ว จะเห็นได้อย่างชัดเจนว่าภาคอีสานเป็นภูมิภาคที่มีความหลากหลายทางวัฒนธรรมและวัฒนธรรมต่างๆ ก็มีความแตกต่างกันตามแต่ละท้องถิ่นและแตกต่างจากภูมิภาคอื่นๆของไทยอย่างเห็นได้ชัด ทั้งวัฒนธรรมทางด้านการดำรงชีวิตและวัฒนธรรมที่เกี่ยวข้องกับศาสนา ซึ่งเราสามารถสังเกตรูปแบบวัฒนธรรมที่ดีงามของชาวอีสานผ่านทางประเพณีต่างๆที่ชาวอีสานจัดขึ้นซึ่งสามารถถ่ายทอดวัฒนธรรมอีสานได้เป็นอย่างดี
งานประเพณีบุญบั้งไฟ
ประเพณีบุญบั้งไฟ กำเนิดจากไหนนั้น ยังไม่ปรากฏหลักฐานชัดเจน แต่ก็ยังปรากฏ ประเพณีนี้ในภาคเหนือ (เรียกว่า ประเพณีจิบอกไฟ)ส่วนหลักฐานเอกสารในภาคอีสาน ปรากฏใน วรรณกรรมท้องถิ่นเรื่อง ผาแดง-นางไอ่ ซึ่งกล่าวถึงตำนานบุญบั้งไฟบ้าง ส่วนความเป็นมาและตำนานเกี่ยวกับบุญบั้งไฟมีหลายประการ ด้วยผู้รู้หลายท่านได้กล่าวไว้ เช่น สิริวัฒน์ คำวันสา ได้ให้ข้อสันนิษฐานเกี่ยวกับต้นเหตุความเป็นมาของประเพณีบุญบั้งไฟ ในแง่ต่างๆไว้ว่าด้านศาสนาพราหมณ์ มีการบูชาเทพเจ้าด้วยไฟเป็นเครื่องบูชาเทพเจ้าบนสวรรค์ การจุดบั้งไฟ เป็นการละเล่นอย่างหนึ่งและเป็นการบูชาเพื่อให้พระองค์บันดาลในสิ่งที่ตนเองต้องการด้านศาสนาพุทธ เป็นการฉลองและบูชาเนื่องในวันวิสาขบูชามีการนำเอาดอกไม้ไฟแบบต่างๆ บั้งไฟ น้ำมัน ไฟธูปเทียนและดินประสิว มีการรักษาศีล ให้ทาน การบวชนาค การฮดสรง การนิมนต์พระเทศน์ ให้เกิดอานิสงส์ ด้านความเชื่อของชาวบ้าน ชาวบ้านเชื่อว่ามีโลกมนุษย์ โลกเทวดา และโลกบาดาล มนุษย์ อยู่ภายใต้อิทธิพลของเทวดา การรำผีฟ้า เป็นตัวอย่างแห่งการแสดงความนับถือเทวดา เทวดา คือ "แถน" "พญาแถน" เมื่อถือว่ามีพญาแถนก็ถือว่ามีฝน ฟ้า ลม เป็นอิทธิพลของพญาแถน หากทำให้พญาแถน โปรดปรานหรือพอใจแถนก็จะบันดาลความสุข จึงมีพิธีบูชาแถน การใช้บั้งไฟเชื่อว่าเป็นการบูชาพญาแถน ซึ่งแสดงความเคารพและแสดงความจงรักภักดีต่อแถน ชาวอีสานส่วนใหญ่จึงเชื่อว่าการจุดบูชาบั้งไฟเป็นการ ขอฝนพญาแถน และมีนิทานปรัมปราลักษณะนี้อยู่ทั่วไป แต่ความเชื่อนี้ยังไม่พบหลักฐานที่แน่นอน ในวรรณกรรมอีสานยังมีความเชื่ออย่างหนึ่ง คือ เรื่องพญาคันคาก พญาคันคากได้รบกับพญาแถนจนชนะแล้ว ให้พญาแถนบันดาลฝนตกลงมายังโลกมนุษย์ พระมหาปรีชา ปริญญาโน เล่าถึงมูลเหตุการทำบุญบั้งไฟไว้ว่า บนสวรรค์ชั้นฟ้ามีเทพบุตร นามว่า วัสสการเทพบุตร เทพบุตรองค์นี้เป็นผู้บันดาลให้ฝนตกลงมายังโลกมนุษย์ สิ่งหนึ่งที่เทพเจ้าองค์นี้ชอบ ก็คือ การบูชาไฟ ใครบูชาไฟถือว่าบูชาท่าน แล้วท่านจะบันดาลให้ฝนตกต้องตามฤดูกาล อาศัยเหตุนี้คนจึงพากันทำการบูชาไฟด้วยการทำบุญบั้งไฟและถือเป็นประเพณีจนทุกวันนี้ จารุบุตร เรืองสุวรรณ กล่าวถึงมูลเหตุแห่งการทำบั้งไฟว่าเป็นการทดสอบความพร้อมของ ประชาชนว่ามีความสามัคคีหรือไม่ และเตรียมอาวุธไว้ป้องกันสังคมของตนเอง เพราะสิ่งที่ใช้ทำบั้งไฟนั้นคือ ดินปืนนอกจากนี้ยังเป็นโอกาสให้ประชาชนมาร่วมชุมนุมกันเพื่อเปิดโอกาสให้มีการแสดงการละเล่นจนสุด เหวี่ยง ให้มีความสนุกสนานก่อนที่จะเริ่มทำงานหนักประจำปี คือ การทำนา บุญเลิศ สดสุชาติ กล่าวถึงการทำบั้งไฟว่า มีตำนานเล่าถึงเมืองธีตานครของท้าวพญาขอม เกิดแล้งหนัก ท่านจึงป่าวประกาศให้เมืองต่างๆ ทำบั้งไฟมาแข่งกันของใครขึ้นสูงสุดจะเป็นผู้ชนะได้อภิเษก สมรสกับ "นางไอ่" ผู้เป็นพระราชธิดา ผลการแข่งขันจุดบั้งไฟปรากฏว่าท้าวผาแดงเป็นผู้ชนะเลิศ เมื่อพญาขอม สิ้นพระชนม์ ท้าวผาแดงได้ครองเมืองสืบต่อมาด้วยความสงบสุขร่มรื่น กล่าวถึงท้าวภาคีบุตรพญานาค เคยเป็นคู่ครองของนางไอ่ในชาติปางก่อน ยังมีอาวรณ์ถึงนางจึงได้แปลงกายเป็นกระรอกเผือกมาให้นางไอ่เห็น เมื่องนางไอ่เห็นก็อยากได้กระรอกนั้นเป็นกำลัง นางได้ส่งบริวารให้ช่วยกันจับ บังเอิญบริวารยิงธนูถูกกระรอก เผือกถึงแก่ความตาย ก่อนตายท้าวภาคีได้อธิษฐานให้ร่างกายของตนใหญ่โต แม้คนจะเชือดเพื่อไปกิน มากมายอย่างไรก็อย่าได้หมด ใครที่กินเนื้อตนจงถึงแก่ชีวิตพร้อมกันทั้งแผ่นดินถล่ม เมืองธีตานครถึงแก่จม หายไป กลายเป็นหนองหาน ท้าวผาแดงและนางไอ่พยายามขี่ม้าหนี แต่ไม่รอดได้เสียชีวิตในคราวนี้ด้วย จากผลแห่งกรรมดีที่สร้างไว้ท้าวผาแดงได้ไปจุติเป็นเทพเจ้า ชื่อว่าพญาแถน ดังนั้นการทำบุญบั้งไฟก็ เพื่อเป็นการบูชาพญาแถน จารุวรรณ ธรรมวัตร กล่าวถึงมูลเหตุการทำบั้งไฟดังนี้ พญาแถนเป็นเทพยดาผู้มีหน้าที่ ควบคุมฝนฟ้าให้ตกต้องตามฤดูกาล หากทำการเซ่นบวงสรวงให้พญาแถนพอใจ ท่านก็จะอนุเคราะห์ให้การ ทำนาปีนั้นได้ผลสมบูรณ์ ตลอดจนบันดาลให้ข้าวปลาอาหารอุดมสมบูรณ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากหมู่บ้านใด ทำบุญบั้งไฟติดต่อกันมาถึงสามปี ข้าวปลาอาหารในหมู่บ้านนั้นจะบริบูรณ์มิได้ขาด พระยาอนุมานราชธน เขียนเล่าไว้ในเรื่อง "อัคนีกรีฑา" ว่าด้วยวัฒนธรรมและประเพณีต่างๆ ของไทยว่า เรื่องบ้องไฟนี้โบราณเรียกว่ากรวดหรือจรวด เป็นการเล่นไฟของชาวบ้าน โดยอ้างถึงหลักศิลาจารึก พ่อขุนรามคำแหง เมื่อพุทธศักราช ๑๘๓๕ ว่า "เมืองสุโขทัยนี้มีสีปากประตู หลวงเทียรญ่อมคนเสียดคนเข้าดู ท่านเผาเทียนเล่นไฟ เมืองสุโขทัยนี้มีดังจักแตก" เป็นหลักฐานว่าการเล่นไฟประดิษฐ์จรวด กรวด หรือบ้องไฟ รวมทั้งพลุ ตะไล และไฟพะเนียงได้รู้จัก และทำเล่นกันมานานเกือบ ๗๐๐ ปีแล้ว เป็นการละเล่นที่สนุกสนาน ผู้คนเบียดเสียดกันเข้ามาดูแทบว่ากรุงสุโขทัยแตก ส่วนงานประเพณีบั้งไฟ เมืองยโสธรได้มีมานานแล้ว โดยมีหลักฐานว่า มีมาก่อนที่กรมหลวง- สรรพสิทธิประสงค์ จะขึ้นไปเป็นข้าหลวงเทศาภิบาล คือ เรื่องของกบฏผีบุญ หรือกบฏชาวนา กรมหลวง- สรรพสิทธิประสงค์ จึงห้ามการเล่นบั้งไฟ
(นิธิ เอียวศรีวงศ์, ๒๕๓๖ : ๓๔)
จุดประสงค์ของการทำบุญบั้งไฟ
จุดประสงค์ของการทำบุญบั้งไฟ มีหลายอย่าง เช่น
๑. การบูชาคุณของพระพุทธเจ้า สืบต่ออายุพระพุทธศาสนา ขอน้ำฝน เชื่อมความ สมัครสมานสามัคคี แสดงการละเล่นการบูชาคุณของพระพุทธเจ้า ชาวอีสานส่วนมากนับถือพระพุทธศาสนา เมื่อถึงเทศกาลเดือน ๖ ซึ่งเป็นวันประสูติ วันตรัสรู้ และวันปรินิพพานของพระพุทธเจ้า ชาวอีสานจะจัดดอกไม้ธูปเทียนมาบูชา พระพุทธรูป การทำบุญบั้งไฟของชาวอีสานถือว่าเป็นการบูชาพระพุทธเจ้าด้วยเช่นกัน
๒. การสืบต่ออายุพระพุทธศาสนา เนื่องจากการทำบุญบั้งไฟ มีการบวชพระและบวชเณร ในครั้งนี้ด้วย จึงถือว่าเป็นการสืบต่อพระพุทธศาสนา
๓. การขอฝน การทำนาไม่ว่าจะเป็นของภาคใดก็ต้องอาศัยน้ำฝน ชาวอีสานก็เช่นกัน เนื่องจากมนุษย์ไม่สามารถควบคุมธรรมชาติได้ จึงมีความเชื่อเดียวกันกับสิ่งเหนือธรรมชาติจากตำนาน เรื่องเล่าของชาวอีสานเชื่อว่า มีเทพบุตรชื่อ โสกาลเทพบุตร มีหน้าที่บันดาลน้ำฝนให้ตกลงมา จึงทำบุญ บั้งไฟขอน้ำจากเทพบุตรองค์นั้น
๔. การเชื่อมความสามัคคี คนในบ้านเมืองหนึ่งที่แตกต่างกันมาอยู่รวมกัน ถ้ามิได้ทำกิจกรรม ร่วมกันก็จะมีฐานะต่างคนต่างอยู่ เมื่อบ้านเมืองเกิดความยุ่งยากจะขาดกำลังคนแก้ไข ดังนั้น เมื่อทำบุญ บั้งไฟก็จะเปิดโอกาสให้คนทั้งหลายได้มาร่วมแรงร่วมใจกันประกอบกิจกรรม สร้างความสามัคคีให้เกิดขึ้น ในหมู่คณะ
๕. การแสดงการละเล่น เป็นการเปิดโอกาสให้ทุกคนมาแสดงการละเล่น คนเราเมื่อได้เล่น ได้กินร่วมกัน จะเกิดความรักใคร่ใยดีต่อกัน การเล่นบางอย่างจะสุภาพเรียบร้อย บางอย่างหยาบโลน แต่ก็ไม่ ถือสาหาความ ถือเป็นการเล่นเท่านั้น
ชนิดของบั้งไฟ
ชนิดของบั้งไฟมีหลายชนิด ขึ้นอยู่กับจุดมุ่งหมายในการทำ อาจจะแยกเป็นแบบใหญ่ และนิยมทำกันมากมี ๓ แบบ คือ แบบมีหาง แบบไม่มีหาง และบั้งไฟตะไลบั้งไฟมีหางเป็นแบบมาตรฐาน เรียกว่า "บั้งไฟหาง" มีการตกแต่งให้สวยงามเมื่อเวลาเซิ้ง เวลาจุดจะพุ่งขึ้นสู่ท้องฟ้าได้สูงมาก ควบคุมทิศทางได้เล็กน้อยบั้งไฟแบบไม่มีหางเรียกว่า "บั้งไฟก่องข้าว" รูปร่างคล้ายกล่องใส่ข้าวเหนียว ชนิดมีขาตั้ง เป็นแฉก ถ้าจะเปรียบเทียบให้เห็นชัดก็คล้ายจรวดนั่นเองบั้งไฟตะไล มีรูปร่างกลม มีไม้บางๆ แบนๆ ทำเป็นวงกลมรอบหัวท้ายของบั้งไฟ เวลาพุ่ง ขึ้นสู่ท้องฟ้าจะพุ่งไปโดยทางขวาง บั้งไฟทั้งสามแบบที่กล่าวมา ถ้าจะแยกย่อยๆ ตามเทคนิคการทำและลักษณะรูปร่างของบั้งไฟ จะแยกเป็นประเภทได้ ๑๑ ชนิด ดังนี้คือ
- บั้งไฟโมดหรือโหมด
- บั้งไฟม้า
- บั้งไฟช้าง
- บั้งไฟจินาย
- บั้งไฟดอกไม้
- บั้งไฟฮ้อยหรือบั้งไฟร้อย
- บั้งไฟหมื่น
- บั้งไฟแสน
- บั้งไฟตะไล
- บั้งไฟตื้อ
- บั้งไฟพลุ
ประเพณีเล่นว่าว เป็นประเพณีการละเล่นที่มีมาแต่โบราณดึกดำบรรพ์ โดยอาศัยกระแสลมส่งโครงรูปเบาที่มี ขนาดและรูปร่างแตกต่างกันปิดด้วยกระดาษหรือผ้าให้ลอยขึ้นไปอยู่ในอวกาศ ผู้เล่นจะคอยสาว สายป่าน ดึงเข้ามาแล้วผ่อนออกไป เพื่อโต้ลมที่พัดเข้ามาปะทะมิให้สายป่านขึงตึงจนเกินไป
การเล่นว่าวทางภาคอีสานนั้น จะเป็นช่วงฤดูสั้นๆ ประมาณ 1-2 เดือนเท่านั้น ในช่วงเดือน พฤศจิกายนถึงเดือนธันวาคม เพราะช่วงนี้มีลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือพัดผ่าน หรือที่ชาวบ้าน เรียกว่า "ลมบน"”และต้องเล่นว่าวในยามค่ำคืน ช่วงเวลา ตั้งแต่ 5 โมงเย็นเรื่อยไปจนถึง สว่างประมาณ ตี 5 หรือ 6 โมงเช้า ลมว่าวก็จะหมดลง ว่าวก็ตกลงมา
ประเพณีการเล่นว่าวเป็น ประเพณีไทยภาคอีสาน โดยมากจะมีการเล่นที่แฝงไว้กับจุดมุ่งหมาย โดยเฉพาะเรื่อง การบวงสรวงหรือการเสี่ยงทาย จะเห็นว่าการเล่นว่าวของชาวอีสานมีความเชื่อมโยงกับเรื่อง ของความเชื่อกับการพยากรณ์ การเสี่ยงทายความอุดมสมบูรณ์ของพืชพันธ์ธัญญาหาร
ตามความเชื่อของชาวบุรีรัมย์ และคนอีสาน ช่วงเก็บเกี่ยวข้าวจะปล่อยว่าวขึ้นบนท้องฟ้า เป็นการเสี่ยงทายตามขนบธรรมเนียมประเพณี ปีใดว่าวแอกขึ้นสูงมีเสียงดังจะชี้ได้ว่าปีนั้น ข้าวปลา พืชพันธ์ธัญญาหารของเกษตรกรจะมีความอุดมสมบูรณ์ หลังฤดูเก็บเกี่ยวเกษตรกรก็จะตัดสายว่าวของตน ปล่อยให้ล่องลอยไปตามสายลม ถือได้ว่าเป็นการตัดเวรตัดกรรมของเกษตรกรเองด้วย ปีนี้อำเภอห้วยราช จ.บุรีรัมย์ จัดอย่างยิ่งใหญ่เพราะงานว่าวปีนี้ทางอำเภอจัดงานกาชาดร่วมกับงานว่าวเป็นปีแรก ซึ่งได้นำผลิตภัณฑ์ของชาวบ้านและอำเภอต่าง ๆ ในจังหวัดบุรีรัมย์ร่วมออกงานงานกาชาดจะเริ่มตั้งแต่วันที่ 7 ธันวาคม
ภายในงานจะจำหน่ายมัจฉากาชาดและการแสดงของมดน้อยกันตรึมร็อกและกันตรึมส่องแสงรุ่งเรืองชัย นอกจากนั้นยังมีการประกวดร้องเพลงลูกทุ่ง ประกวดธิดากาชาด หนูน้อยกาชาด ร้านนิทรรศการ ร้านโอทอปของชาวบ้านจาก 8 ตำบลของอำเภอห้วยราชและจากอำเภอต่าง ๆ อาทิ ผ้าไหม เครื่องจักสาน ฯลฯ
งานประเพณีมหกรรมว่าวอีสานบุรีรัมย์ มีการจัดกิจกรรมการแข่งขันว่าวแอกโบราณ ว่าวแอกพัฒนา ว่าวแอกยักษ์ ว่าวประดิษฐ์เยาวชน ว่าวสวยงาม ว่าวแอกเยาวชน รวมทั้งการแข่งขันแกว่งแอก และชมการละเล่นศิลปะพื้นบ้านสะท้อนถึงวิถีชีวิตของชนสี่เผ่า ลาว เขมร ส่วยและโคราช ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่จังหวัดบุรีรัมย์มาช้านาน นอกจากนั้น ยังจัดให้มีขบวนแห่และประกวดธิดาว่าว จากทุกอำเภอ กิ่งอำเภอ รวมถึงการจัดแสดงและจำหน่ายสินค้าหนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์จากทุกอำเภอและกิ่งอำเภอ ส่วนในภาคกลางคืนเชิญชมมหรสพสมโภช การแสดงดนตรี การละเล่นพื้นบ้านอีกมากมาย
ประเพณีแห่ดาวคริสต์มาสจังหวัดสกลนครจัดงานเทศกาลแห่ดาวคริสต์มาสประเพณีของชาวสกลนครแห่งเดียวในประเทศไทยเพื่อสืบทอดงาน
ประเพณีแห่ดาวคริสต์มาส และส่งเสริมการท่องเที่ยวของจังหวัด
การจัดงานเทศกาล แห่ดาวคริสต์มาสจังหวัดสกลนคร มีกำหนดจัดขึ้นในวันที่ 25 ธันวาคม 2555 ณ. บริเวณสำนักมิสซังโรมันคาทอลิกท่าแร่-หนองแสง (โรงเรียนเซนต์ยอแซฟสกลนคร) อำเภอเมือง จังหวัดสกลนคร เพื่อสืบทอดงานประเพณีแห่ดาวคริสต์มาสเฉลิมฉลองการประสูติขององค์พระเยซูคริสต์เจ้า และขอพรสำหรับสันติภาพในโลก
ตลอดจนเพื่อเสริมสร้างความรัก ความสามัคคี และส่งเสริมการท่องเที่ยวของจังหวัดสกลนคร การจัดงานแห่ดาวคริสต์มาส มีแห่งเดียวในประเทศไทย ชมขบวนแห่รถยนต์ดาวประดับตกแต่งด้วยไฟแสงสีที่ยิ่งใหญ่ และสวยงามตระกาลตา ของชาวคริสต์จาก 4 จังหวัด คือ สกลนคร นครพนม มุกดาหาร และกาฬสินธุ์ โดยจะแห่จาก ถนนหน้าศูนย์ราชการ ไปตามถนนต่างๆ ในเขตเทศบาลเมืองสกลนคร เพื่อให้ประชาชนในเทศบาลได้ชม จากนั้นขบวนจะไปบริเวณสำนักมิสซังโรมันคาทอลิกท่าแร่-หนองแสง (โรงเรียนเซนต์ยอแซฟสกลนคร) เพื่อประกอบพิธีกรรมทางศาสนาระลึก ถึงการประสูติของพระเยซูเจ้า และขอบคุณพระองค์ที่นำแสงสว่าง และความรอดพ้นมาสู่มวลมนุษย์
เพื่อร่วมฉลองการบังเกิดของพระเยซูและขอบคุณที่พระองค์นำแสงสว่างความรอดพ้นมาสู่มวลมนุษย์ ตลอดจนเพื่ออนุรักษ์วัฒนธรรม ขนบธรรมเนียมประเพณีอันดีงามของท้องถิ่นและส่งเสริมการท่องเที่ยวของจังหวัดสกลนคร
ตลอดจนเพื่อเสริมสร้างความรัก ความสามัคคี และส่งเสริมการท่องเที่ยวของจังหวัดสกลนคร การจัดงานแห่ดาวคริสต์มาส มีแห่งเดียวในประเทศไทย ชมขบวนแห่รถยนต์ดาวประดับตกแต่งด้วยไฟแสงสีที่ยิ่งใหญ่ และสวยงามตระกาลตา ของชาวคริสต์จาก 4 จังหวัด คือ สกลนคร นครพนม มุกดาหาร และกาฬสินธุ์ โดยจะแห่จาก ถนนหน้าศูนย์ราชการ ไปตามถนนต่างๆ ในเขตเทศบาลเมืองสกลนคร เพื่อให้ประชาชนในเทศบาลได้ชม จากนั้นขบวนจะไปบริเวณสำนักมิสซังโรมันคาทอลิกท่าแร่-หนองแสง (โรงเรียนเซนต์ยอแซฟสกลนคร) เพื่อประกอบพิธีกรรมทางศาสนาระลึก ถึงการประสูติของพระเยซูเจ้า และขอบคุณพระองค์ที่นำแสงสว่าง และความรอดพ้นมาสู่มวลมนุษย์
เพื่อร่วมฉลองการบังเกิดของพระเยซูและขอบคุณที่พระองค์นำแสงสว่างความรอดพ้นมาสู่มวลมนุษย์ ตลอดจนเพื่ออนุรักษ์วัฒนธรรม ขนบธรรมเนียมประเพณีอันดีงามของท้องถิ่นและส่งเสริมการท่องเที่ยวของจังหวัดสกลนคร
เทศกาลแห่ดาวคริสต์มาส เป็นส่วนหนึ่งของการเฉลิมฉลองเทศกาลคริสต์มาสที่ไม่จำกัดอยู่เพียงผู้นับถือศาสนาคริสต์เท่านั้น แต่มีการเฉลิมฉลองกันอย่างยิ่งใหญ่ทั่วโลก โดยมีตำนานเล่าว่าบัณฑิต 3 คน ออกเดินทางตามแสงแห่งดวงดาว และดาวมาดับแสง ณ ที่ประสูติของพระเยซู จึงถือว่าดาวเป็นสัญลักษณ์ของการเสด็จมาประสูติของพระเยซูเจ้า จึงมีการริเริ่มประเพณีแห่ดาวเพื่อระลึกถึงเหตุการณ์นั้น ซึ่งเป็นการแสดงถึงความเป็นหนึ่งเดียวกันของชาวคาทอลิก รวมทั้งผู้นับถือศาสนาอื่นๆ จึงขอเชิญชวนนักท่องเที่ยวที่สนใจมาร่วมเฉลิมฉลองเทศกาลคริสต์มาสที่จังหวัดสกลนคร ระหว่างวันที่ 23-25 ธันวาคม 2555 นี้ ณ ชุมชนบ้านท่าแร่ และบริเวณสนามมิ่งเมือง อ.เมือง จ.สกลนคร กิจกรรมในงานได้แก่ การแห่ดาวแบบดั้งเดิมของชุมชนท่าแร่ ด้วยดวงดาวน้อยใหญ่ที่ถืออยู่ในมือ พิธีบูชามิสซา ณ โบสถ์อาสนวิหารอัครเทวดามีคาแอล การแสดงละครเทวดาประสูติองค์พระเยซูเจ้า ตระการตากับขบวนรถแห่ดาวที่ประดับตกแต่งด้วยดวงดาวรูปต่างๆ กว่า 20 ขบวน นอกจากนั้นยังมีกิจกรรมนั่งรถรางชมเมือง สัมผัสบรรยากาศตะวันรอนที่หนองหาร ชมสถาปัตยกรรมอาคารบ้านเรือนเก่าแบบโคโรเนียลที่ประดับตกแต่งด้วยดวงดาวระยิบระยับสวยงาม ชมซุ้มสาธิตการประดิษฐ์ดาว พร้อมเดินเที่ยวในถนนคนเดินชุมชนท่าแร่ “ถนนข้าวใหม่ปลามัน” ในวันที่ 23-24 ธันวาคม 2555 ณ ชุมชนบ้านท่าแร่
วันที่ 25 ธันวาคม 2555 ชมความอลังการตระการตากับขบวนรถดาวกว่า 200 คัน จากชุมชนชาวคริสต์ในเขต จ.สกลนคร นครพนม มุกดาหาร และกาฬสินธุ์ ที่จัดส่งรถดาวเข้าประกวดและร่วมขบวนแห่ ซึ่งจะเริ่มขบวนแห่ในเวลา 18.00 น.เป็นต้นไป โดยเริ่มจากบริเวณหน้าประตูศูนย์ราชการจังหวัดสกลนคร แห่รอบตัวเมืองไปยังบริเวณจัดงาน ณ บริเวณสนามมิ่งเมือง ละลานตากับดาวบนดินนับหมื่นดวง สนุกสนานกับบรรยากาศการเฉลิมฉลองเทศกาลคริสต์มาส
พร้อมชมการร้องเพลงประสานเสียงเพลงคริสต์มาส การแสดงละครเทวดาวันคริสตสมภพ และพลุไฟเฉลิมฉลองเทศกาลคริสต์มาสตระการตา นอกจากนี้นักท่องเที่ยว ยังสามารถเที่ยวชมสถานที่ท่องเที่ยวใกล้เคียงใน จ.สกลนคร และนครพนม อาทิ นมัสการพระธาตุเชิงชุม ชมพิพิธภัณฑ์หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต เที่ยวโครงการพระราชดำริ ชม 3 ดำมหัศจรรย์ ที่ศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพาน นมัสการพระธาตุประสิทธิ์ ชมหมู่บ้านแห่งเสียงดนตรีอีสาน แหล่งผลิตเครื่องดนตรี พิณ แคน โหวด ที่บ้านท่าเรือ ชมกรรมวิธีผลิตผ้าย้อมครามที่บ้านพันนา และเลือกซื้อผลิตภัณฑ์เซรามิคขึ้นชื่อที่ศูนย์ศิลปาชีพกุดนาขาม
ประเพณีบุญข้าวประดับดิน เป็นประเพณีไทยหนึ่งในฮีตสิบสอง นิยมทำกันในวันแรม 14 ค่ำ เดือนเก้า หรือที่เรียกว่า บุญเดือนเก้า บุญข้าวประดับดิน เป็นบุญที่ทำเพื่ออุทิศส่วนกุศลให้แก่ เปรต (ชาวอีสานบางถิ่นเรียก เผต) หรือญาติมิตรที่ตายไปแล้ว ข้าวประดับดิน ได้แก่ ข้าวและอาหารคาวหวาน พร้อมหมากพลู บุหรี่ที่ห่อด้วยใบตอง กล้วย นำไปวางไว้ตามใต้ต้นไม้ แขวนไว้ตามกิ่งไม้ ตามบริเวณกำแพงวัดบ้าง (คนอีสานโบราณเรียกกำแพงวัดว่า ต้ายวัด) หรือวางไว้ตามพื้นดิน เรียกว่า "ห่อข้าวน้อย" พร้อมกับเชิญวิญญาณของญาติมิตร นำภัตตาหารไปถวายแด่พระภิกษุ สามเณร แล้วอุทิศส่วนกุศลแก่ผู้ตาย โดยหยาดน้ำ (กรวดน้ำ) ไปให้ด้วย
ประเพณีบุญข้าวประดับดินนี้ นอกจากจะเป็นการอุทิศส่วนกุศลให้บรรพบุรุษและผีไร้ ญาติตามความเชื่อแล้ว ถือว่าเป็นการให้ทานแก่ผู้ยากไร้รวมทั้งสัตว์ที่ไม่มีเจ้าของ ที่ต้องหิว อดมื้อกินมื้อมาตลอดทั้งปีด้วย เพราะการที่ตั้งอาหารไว้ที่พื้นทำให้สัตว์เหล่านั้นสามารถเข้ามากินอาหารได้ อย่างเต็มที่ ทุกวันนี้คนเราส่วนมากมักนึกถึงแต่เรื่องของตนเองเป็นสำคัญ การมีงานบุญงานประเพณี อย่าง บุญห่อข้าวประดับดิน จะช่วยกระตุ้นเตือนให้เราได้นึกถึงผู้อื่นบ้าง จึงน่าจะถือได้ว่าเป็นวันแห่งการชำระล้างความเห็นแก่ตัวออกไปจากจิตใจด้วย
ความเป็นมาประเพณีบุญข้าวประดับดิน
โบราณท่านเขียนไว้ในหนังสือฉลอง ความว่า “ครั้งที่มหาโมคคัลลาน์แทรกแผ่นดินลงไปเยือนนรก ซึ่งเขากำลังเสวยกรรมอยู่ในแดนต่างๆ พอท่านไปถึงก็บันดาลให้ไฟนรกดับ สัตว์นรกก็ไม่ได้เสวยกรรม พอท่านจะกลับมายังโลกมนุษย์พวกสัตว์นรกได้สั่งท่านให้มาบอกญาติพี่น้องทาง โลกได้ทราบ และทำทานอุทิศส่วนกุศลไปให้บ้าง เมื่อพระโมคคัลลาน์กลับมาถึงชมพูทวีปก็ประกาศข่าวนี้ให้ประชาชนทราบ ซึ่งวันนั้นตรงกับวันดับเดือนเก้า (วันแรม 15 ค่ำ) จึงถือเอาวันดังกล่าวเป็นวันทำบุญข้าวประดับดิน”
อีกตำนานก็เล่าว่า มีเรื่องเล่าไว้ในพระธรรมบทว่าญาติของพระเจ้าพิมพิสารกินของสงฆ์เมื่อตาย แล้วไปเกิดในนรก ครั้นพระเจ้าพิมพิสารถวายทานแด่พระพุทธเจ้าแล้วมิได้อุทิศให้ญาติที่ตาย กลางคืนพวกญาติที่ตายมาแสดงตัวเปล่งเสียงน่ากลัวให้ปรากฏใกล้พระราชนิเวศน์ รุ่งเช้าได้เสด็จไปทูลถามพระพุทธเจ้า พระพุทธองค์ทูลเหตุุให้ทราบ พระเจ้าพิมพิสารจึงถวายทานอีกแล้วอุทิศส่วนกุศลไปให้ญาติที่ตายไปจึงได้รับ ส่วน กุศลการทำบุญข้าวประดับดิน ทำเพื่ออุทิศส่วนกุศลแก่ญาติผู้ตายแล้ว ถือเป็นประเพณี ที่ต้องทำเป็นประจำทุกปี
ประเพณีบุญข้าวประดับดินหรือบุญเดือนเก้า ที่จำเพาะต้องเป็นเดือนนี้ เนื่องจาก เป็นช่วงกึ่งกลางฤดูฝนพอดี เป็นช่วงเวลา ที่ข้าวปลาอาหาร อุดมสมบูรณ์ที่สุด น้ำในแม่น้ำลำคลอง ก็เต็มตลิ่ง เกาะแก่งกลางน้ำหายไป เพราะน้ำท่วมมิด ช่วงเวลาที่ดูเหมือนจะสมบูรณ์เช่นนี้ ทำให้ลูกหลาน ระลึกถึงพระคุณ ของบรรพบุรุษ และคิดตอบแทนบ้าง ซึ่งในบุญเดือนเก้านี้ถือกันว่า ผีเครือญาติ ที่ยังไม่หมดกรรม จะได้รับการปลดปล่อย ให้กลับมาเยี่ยมโลกมนุษย์อีกครั้ง พร้อมทั้งรับส่วนบุญที่ลูกหลานอุทิศให้
ประเพณีตีคลีไฟ เป็นประเพณีไทยจากภูมิปัญญาท้องถิ่น จัดให้มีขึ้นมาแต่โบราณ โดยได้แนวคิด มาจากการตีคลีของพระสังข์กับพระอินทร์ในวรรณคดี เรื่อง สังข์ทอง การตีคลีไฟเป็นวิธีการแก้ปัญหาการขาดเครื่องนุ่งห่มในสมัยก่อน หน้าหนาวจะหนาวมาก พวกผู้ชายจะออกมาที่สนามหน้าลานบ้านแล้วมาร่วมเล่นตีคลีไฟกับพวกผู้หญิง ๆ จะเป็นผู้เผาลูกคลีไฟ ทำให้หายหนาวได้ และเป็นการสร้างความสามัคคีให้ แก่คนในหมู่บ้านอย่างชาญฉลาด โดยการตีคลีไฟ เป็นหนึ่งในประเพณีไทยเพื่อการสืบทอดมรดกทางวัฒนธรรม ให้การเล่นดังกล่าว ได้รับการถ่ายทอดจากคนรุ่นหลัง ผู้เป็นต้นเค้าการเล่นครั้งแรก คือ นายหล้า วงษ์นรา ผู้ใหญ่บ้านหนองเขื่อง ตำบลกุดตุ้ม อำเภอเมือง จังหวัดชัยภูมิเริ่มเล่นครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๘ ซึ่งเป็นปีแรกที่ตั้งหมู่บ้านหนองเขื่อง ที่เพิ่งแยกตัวมาจากบ้านกุดตุ้ม และสืบสานต่อคนหนุ่มในบ้านหนึ่ง ไปยังอีกหมู่บ้านหนึ่ง ถือว่าตีคลีไฟ เป็นประเพณีของหลายหมู่บ้าน ในละแวกเดียวกัน ใช้เชื่อมความสัมพันธ์ของคนในหมู่บ้าน และได้สืบสานต่อเยาวชนคนรุ่นใหม่ให้รัก และอนุรักษ์กีฬาตีคลีลูกไฟ ซึ่งจะเล่นกันในฤดูหนาว ช่วงพระอาทิตย์ลับฟ้า และเพื่อให้เกิดความ สวยงาม และช่วยให้ร่างกายอบอุ่น ถือเป็นการวัดใจของผู้ชายอย่างแท้จริง เพราะเป็นความสมัครใจในการเล่น
ตีคลีไฟเป็นประเพณีไทย ที่เล่นกันช่วงฤดูหนาวหลังออกพรรษา ประกอบด้วยผู้เล่นข้างละ ๑๑ คน ชาวบ้านจะใช้ไม้จากต้นหนุนแห้งมาตัดเป็นท่อนแล้วเผาไฟจนกลายเป็นถ่าน ให้ผู้เล่นใช้ไม้ซึ่งทำจากไม้ไผ่หัวขวานลักษณะคล้ายไม้กอล์ฟ ตีเข้าประตูของฝ่ายตรงข้าม ทีมใดที่สามารถตี ลูกคลีไฟเข้ามากกว่าจะเป็นฝ่ายชนะ ซึ่งชาวบ้านหนองเขื่อง จะเล่นกันมานาน เป็นกีฬาพื้นบ้านที่จัดให้มีการแข่งขันในช่วงเทศกาลออกพรรษา ของทุกปี ซึ่งนับเป็นประเพณีไทยอีกหนึ่งการละเล่นที่สามารถรับชมได้ที่ บ้านหนองเขื่อง ต.กุดตุ้ม อ.เมือง จ.ชัยภูมิ แห่งเดียวเท่านั้น
ประเพณีตีคลีไฟ เกิดขึ้นเพราะความบังเอิญ โดยสมัยก่อนจะมีการก่อกองไฟแก้หนาวในช่วงพลบค่ำ วันหนึ่งระหว่างที่มีการเล่นตีคลี บังเอิญลูกคลีเกิดกลิ้งเข้าไปในกองไฟแล้วติดไฟ แต่ด้วยความสนุกและไม่อยากหยุดเล่น ชาวบ้านจึงตีคลีกันต่อทั้งที่ติดไฟ แต่พอตีแล้วเห็นเป็นแสงไฟสวยงาม ทำให้ถูกนำมาเล่นกันเป็นประจำ
ประเพณีไทย ต่าง ๆ ที่กล่าวยกมานี้ ล้วนเป็นสิ่งที่มีคุณค่า แฝงเร้นไปด้วยกุศโลบาย ไม่ว่าจะเป็นการเชื่อมโยงความรักความสามัคคีของคนในท้องถิ่น และหมู่บ้านใกล้เคียง ตลอดจนเป็นการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์งานด้านศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่น ให้กับประชาชนทั่วไป และชาวต่างชาติ อีกทั้งยังช่วยส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ ในช่วงเทศกาลงานบุญประเพณีได้อีกทางหนึ่งด้วย
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น