วัฒนธรรมไทยภาคใต้
Southern Thai tradition.
วัฒนธรรมและประเพณีท้องถิ่นภาคใต้
1. ประเพณีชักพระ ทอดผ้าป่า
หรือ ประเพณีลากพระ ช่วงเวลา วันลากพระ จะทำกันในวันออกพรรษา คือวันแรม 1 ค่ำ เดือน 11 โดยตกลงนัดหมายลากพระไปยังจุดศูนย์รวม วันรุ่งขึ้น แรม 2 ค่ำ เดือน 11 จึงลากพระกลับวัด
ประเพณีชักพระ ทอดผ้าป่า หรือ ประเพณีลากพระ จังหวัดนครศรีธรรมราช
ความสำคัญ
ประเพณีชักพระหรือลากพระนั้นเป็นประเพณีท้องถิ่นของชาวใต้ ที่ได้มีการสืบทอดกันมาตั้งแต่สมัยศรีวิชัย โดยสันนิษฐานว่าได้เกิดมีขึ้นครั้งแรกในประเทศอินเดีย ซึ่งเป็นประเพณีความเชื่อของพราหมณ์ศาสนิกชนและพุทธศาสนิกชน มีพุทธตำนานเล่าขานสืบทอดกันมาว่า หลังจากที่พระพุทธเจ้าทรงได้ทรงกระทำยมกปาฏิหารย์ปราบเดียรถีย์ ณ ป่ามะม่วง กรุงสาวัตถี และได้เสด็จไปทรงจำพรรษา ณ ดาวดึงส์ เพื่อทรงโปรดพระพุทธมารดา จนพระพุทธมารดาได้ทรงสิ้นพระชนม์ลง จึงทรงได้เสด็จกลับมายังโลกมนุษย์ เมื่อพระอินทร์ทรงทราบจึงได้นิมิตบันไดนาค บันไดแก้วและบันไดเงินทอดลงมาจากสรวงสวรรค์ เมื่อพุทธศาสนิกชนได้ทราบจึงพร้อมใจกันมาเฝ้ารับเสด็จที่หน้าประตูนครสังกัสสะ ในตอนเช้าของวันแรม 1 ค่ำ เดือน 11 พร้อมกับได้จัดเตรียมภัตตาหารเพื่อถวายแด่พระพุทธองค์
พิธีกรรม
1. การแต่งนม
นมพระ หมายถึงพนมพระเป็นพาหนะที่ใช้บรรทุกพระลาก นิยมทำ 2 แบบ คือ ลากพระทางบก เรียกว่า นมพระ ลากพระทางน้ำ เรียกว่า "เรือพระ" นมพระสร้างเป็นร้านม้า มีไม้สองท่อนรองรับข้างล่าง ทำเป็นรูปพญานาค มีล้อ 4 ล้ออยู่ใต้ตัวพญานาค ร้านม้าใช้ไม้ไผ่สานทำฝาผนัง ตกแต่งลวดลายระบายสีสวย รอบ ๆ ประดับด้วยผ้าแพรสี ธงริ้ว ธงสามชาย ธงราว ธงยืนห้อยระยาง ประดับต้นกล้วย ต้นอ้อย ทางมะพร้าว ดอกไม้สดทำอุบะห้อยระย้า มีต้มห่อด้วยใบพ้อแขวนหน้านมพระ ตัวพญานาคประดับกระจกแวววาวสีสวย ข้าง ๆ นมพระแขวนโพน กลอง ระฆัง ฆ้อง ด้านหลังนมพระวางเก้าอี้ เป็นที่นั่งของพระสงฆ์ ยอดนมอยู่บนสุดของนมพระ ได้รับการแต่งอย่างบรรจงดูแลเป็นพิเศษ เพราะความสง่าได้สัดส่วนของนมพระขึ้นอยู่กับยอดนม
2. การอัญเชิญพระลากขึ้นประดิษฐานบนนมพระ
พระลาก คือพระพุทธรูปยืน แต่ที่นิยมคือ พระพุทธรูปปางอุ้มบาตร เมื่อถึงวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11 พุทธบริษัทจะสรงน้ำพระลากเปลี่ยนจีวร แล้วอัญเชิญขึ้นประดิษฐานบนนมพระ แล้วพระสงฆ์จะเทศนาเรื่องการเสด็จไปดาวดึงส์ของพระพุทธเจ้า ตอนเช้ามืดในวันแรม 1 ค่ำเดือน 11 ชาวบ้านจะมาตักบาตรหน้านมพระ เรียกว่า ตักบาตรหน้าล้อ เสร็จแล้วจึงอัญเชิญพระลากขึ้นประดิษฐานบนนมพระ ในตอนนี้บางวัดจะทำพิธีทางไสยศาสตร์เพื่อให้การลากพระราบรื่น ปลอดภัย
พระพุทธรูปยืน
3. การลากพระ
ใช้เชือกแบ่งผูกเป็น 2 สาย เป็นสายผู้หญิงและสายผู้ชาย โดยใช้โพน (ปืด) ฆ้อง ระฆัง เป็นเครื่องตีให้จังหวะเร้าใจในการลากพระ คนลากจะเบียดเสียดกันสนุกสนานและประสานเสียงร้องบทลากพระเพื่อผ่อนแรง ตัวอย่าง บทร้องที่ใช้ลากพระสร้อย : อี้สาระพา เฮโล เฮโล ไอ้ไหรกลมกลม หัวนมสาวสาว ไอ้ไหรยาวยาว สาวสาวชอบใจ
ประเพณีชักพระ ทอดผ้าป่า หรือ ประเพณีลากพระ จังหวัดนครศรีธรรมราช
สาระ
ประเพณีลากพระ เป็นการแสดงออกถึงความพร้อมเพรียง สามัคคีพร้อมใจกันในการทำบุญทำทาน จึงให้สาระและความสำคัญดังนี้
1. ชาวบ้านเชื่อว่า อานิสงส์ในการลากพระ จะทำให้ฝนตกตามฤดูกาล เกิดคติความเชื่อว่า "เมื่อพระหลบหลัง ฝนจะตกหนัก" นมพระจึงสร้างสัญลักษณ์พญานาค เพราะเชื่อว่าให้น้ำ การลากพระจึงสัมพันธ์เกี่ยวข้องกับวิถีชีวิตของคนในสังคมเกษตร
2. เป็นประเพณีที่ปฏิบัติตามความเชื่อว่า ใครได้ลากพระทุกปี จะได้บุญมาก ส่งผลให้พบความสำเร็จในชีวิต ดังนั้นเมื่อนมพระลากผ่านหน้าบ้านของใคร คนที่อยู่ในบ้านจะออกมาช่วยลากพระ และคนบ้านอื่นจะมารับทอดลากพระต่ออย่างไม่ขาดสาย
3. เกิดแรงบันดาลใจ แต่งบทร้อยกรองสำหรับขับร้องในขณะที่ช่วยกันลากพระ ซึ่งมักจะเป็นบทกลอนสั้น ๆ ตลก ขบขัน และโต้ตอบกัน ได้ฝึกทั้งปัญญาและปฏิภาณไหวพริบ
เรือพระ
เรือพระ คือ รถหรือล้อเลื่อนที่ประดับตกแต่งให้เป็นรูปเรือแล้ววางบุษบก ซึ่งภาษาพื้นเมืองของภาคใต้เรียกว่า "นม" หรือ "นมพระ" ยอดบุษบก เรียกว่า "ยอดนม" ใช้สำหรับอาราธนาพระพุทธรูปขึ้นประดิษฐานแล้วลากในวันออกพรรษา ลากพระทางน้ำ เรียกว่า "เรือพระน้ำ" ส่วนลากพระทางบก เรียกว่า "เรือพระบก" สมัยก่อนจะทำเป็นรูปเรือ ให้คล้ายเรือจริง ๆ และต้องทำให้มีน้ำหนักน้อยที่สุด จึงใช้ไม้ไผ่สานมาตกแต่งส่วนที่เป็นแคมเรือและหัวท้ายเรือคงทำให้แน่นหนา ทางด้านหัวและท้ายทำงอนคล้ายหัวและท้ายเรือ แล้วตกแต่งเป็นรูปพญานาค ใช้กระดาษสีเงินสีทองทำเป็นเกล็ดนาค กลางลำตัวพญานาคทำเป็นร้านสูงราว1.50 เมตร เรียกว่า "ร้านม้า" ส่วนที่สำคัญที่สุด คือ บุษบก ซึ่งแต่ละที่จะมีเทคนิคการออกแบบบุษบก มีการประดิษประดอยอย่างมาก หลังคาบุษบกนิยมทำเป็นรูปจตุรมุข ตกแต่งด้วยหางหงส์ ช่อฟ้า ใบระกา และทุกครอบครัวต้องเตรียม "แทงต้ม" เตรียมหาในกระพ้อ และข้าวสารข้าวเหนียวเพื่อนำไปทำขนมต้ม "แขวนเรือพระ"
ประเพณีแห่ผ้าขึ้นธาตุ

ประเพณีการแห่ผ้าผืนยาวขึ้นห่มองค์พระบรมธาตุเจดีย์ วัดพระมหาธาตุวรวิหารของชาวจังหวัดนครศรีธรรมราช เป็นประเพณีที่พุทธศาสนิกชนชาวนครศรีธรรมราชและจังหวัดใกล้เคียงถือปฏิบัติสืบต่อกันมาหลายชั่วคน ด้วยความเชื่อที่ว่าการห่มผ้ารอบองค์พระบรมธาตุ เปรียบกับได้การบูชาองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า เดิมทีชาวนครศรีธรรมราชจะร่วมกันบริจาคเงินทองเพื่อซื้อผ้ามาเย็บเป็นผ้าผืนยาวเพื่อห่มองค์พระบรมธาตุเจดีย์ สะท้อนให้เห็นถึงความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันของชาวนครศรีธรรมราชที่มีต่อพระบรมธาตุเจดีย์ที่เป็นศูนย์กลางยึดเหนี่ยวจิตใจ
สำหรับกำหนดการแห่ผ้าขึ้นธาตุ จัดขึ้นปีละ ๒ ครั้ง คือ วันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน๓ ซึ่งตรงกับวันมาฆบูชา และวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๖ หรือวันวิสาขบูชา
โดยจะมีการเตรียมผ้าสำหรับห่มองค์พระบรมธาตุเจดีย์ ในอดีตผ้าที่ใช้ห่มจะเรียกว่าผ้าพระบฎ ซึ่งเป็นผ้าที่มีการเขียนเรื่องราวพุทธประวัติเอาไว้อย่างสวยงาม แต่ปัจจุบันการทำผ้าพระบฎนั้นหาคนทำยากและมีค่าใช้จ่ายสูง จึงมีการปรับเปลี่ยนมาใช้ผ้าขาว ผ้าย้อมฝาด ผ้าแดง แทน ส่วนขนาดของผ้านั้นก็ตามกำลังทรัพย์ของแต่ละคน
พิธีการแห่ผืนห่มธาตุ ในสมัยก่อนเจ้าผู้ครองนครและทายาทจะเป็นผู้ทำหน้าที่แห่ โดยจะมีการจัดเตรียมอาหารคาวหวาน เครื่องอุปโภคบริโภคที่จำเป็น จัดรูปขบวนสวยงามหาบคอนไปถวายพระภิกษุสงฆ์ในวัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร มีนำกล่าวคำถวายผ้าพระบฎก่อน จากนั้นก็จะแห่ทักษิณาวัตรรอบองค์พระบรมธาตุเจดีย์ ๓ รอบ แล้วนำผ้าเข้าสู่วิหารพระทางม้า นำผ้าพระบฎขึ้นโอบรอบองค์พระบรมธาตุเจดีย์
แต่เนื่องจากปัจจุบันพุทธศาสนิกชนที่ศรัทธาในการแห่ผ้าขึ้นธาตุมาจากหลากหลายที่ ทำให้พิธีแห่ผ้าขึ้นธาตุเกิดขึ้นไม่พร้อมเพรียงกัน เพื่อความสะดวกจึงมีการแห่ผ้าตามสะดวกไม่จำเป็นต้องรอให้เป็นพิธีเดียวกัน และปัจจุบันคงเหลือแต่พิธีการแห่ผ้าขึ้นห่มองค์พระบรมธาตุเท่านั้น ส่วนขบวนแห่ต่างๆ ได้งดเว้นไปแล้ว และการห่มผ้าอนุญาตให้ส่งตัวแทนขึ้นไป ๓-๔ คนร่วมกับเจ้าหน้าที่ของทางวัดเท่านั้น
ประเพณีการแห่ผ้าขึ้นธาตุสืบเนื่องมาจากสมัยพญาศรีธรรมาโศกราชจันทรภานุทำพิธีวิสาขะสมโภชพระบรมธาตุหลังบูรณะ มีตำนาเล่าขานกันว่า ก่อนเริ่มพิธีสมโภชไม่กี่วัน คลื่นทะเลได้ซัดผ้าแถบผืนหนึ่งขึ้นฝั่งมา บนผ้ามีลายเขียนเป็นเรื่องราวในพุทธประวัติ ซึ่งเรียกกันว่าผ้าพระบฎ พญาศรีธรรมาโศกราชจันทรภานุจึงประกาศหาเจ้าของ จนพบว่าผ้าผืนดังกล่าวเป็นของชาวเมืองอินทรปัตรซึ่งอยู่แถวลุ่มแม่น้ำโขงฝั่งเขมร นำลงเรือหวังจะไปบูชาพระทันตธาตุ พระเขี้ยวแก้วที่ลังกา แต่เรือโดนมรสุมแตกลงที่หน้าเมืองนครศรีธรรมราช หัวหน้าคณะได้จมน้ำเสียชีวิตไปก่อนเหลือแต่ลูกเรือรอดขึ้นฝั่งมาได้ พญาศรีธรรมาโศกราชจันทรภานุจึงมีดำริให้มีขบวนแห่ผ้าพระบฎผืนนั้น ขึ้นห่มองค์พระบรมธาตุ และอุทิศกุศลผลบุญให้แก่หัวหน้าคณะในคราวเดียวกัน
นับแต่นั้นเป็นต้นมา ชาวนครศรีธรรมราชจึงจัดให้มีประเพณีแห่ผ้าขึ้นธาตุเป็นประจำทุกปีที่จะต้องปฏิบัติสืบทอดจนกลายเป็นพิธีกรรมสำคัญที่เป็นเอกลักษณ์หนึ่งเดียวของจังหวัดนครศรีธรรมราช
ประเพณีลอยเรือ

สำหรับชาวเลหรือชาวบ้านที่ใช้ชีวิตตามชายฝั่งทะเล เรือประมงที่ใช้ออกหาปลามีความสำคัญต่อชีวิตความเป็นอยู่ของชาวเล ชาวอูรักลาโวยหรือชาวเลในเขตจังหวัดกระบี่และจังหวัดใกล้เคียงมีประเพณีเกี่ยวกับเรือที่เรียกว่า ประเพณีลอยเรือ หรือพิธีลอยเรือในวันขึ้น ๑๓ –๑๕ ค่ำ เดือน ๖ และเดือน ๑๑ จัดขึ้นเพื่อเป็นการสะเดาะเคราะห์ให้กับคนในหมู่บ้าน ชุมชน
ชาวอูรักลาโวยที่อาศัยอยู่ในจังหวัดกระบี่และจังหวัดใกล้เคียงได้ส่งต่อประเพณีลอยเรือมาสู่ลูกหลานหลายชั่วคน โดยกำหนดให้วันที่จัดประเพณีลอยเรือเป็นวันที่ญาติพี่น้องและสมาชิกในชุมชนที่แยกย้ายไปทำมาหากินอยู่ตามทะเล และหมู่เกาะต่างๆ ในเขตทะเลอันดามันจะพากันเดินทางกลับมายังถิ่นฐานอันเป็นบ้านเกิดของชาวอูรักลาโวย ได้พบปะพูดคุยกกันและประกอบประเพณีนี้ร่วมกัน
ประเพณีลอยเรือเป็นประเพณีที่เกี่ยวข้องกับความเชื่อและวิถีชีวิตของชาวเลอูรักลาโวย ซึ่งเชื่อกันว่าการจัดประเพณีลอยเรือเป็นการสะเดาะเคราะห์ ส่งวิญญาณบรรพบุรุษกลับบ้านเมืองเดิมและเป็นการส่งสัตว์เพื่อไถ่บาป โดยกำหนดให้เรือเป็นตัวแทนของพาหนะที่ใช้ส่งวิญญาณคนและสัตว์ไปยังอีกภพภูมิหนึ่ง บ้างก็เชื่อว่าเป็นการทำนายสภาพดินฟ้าอากาศ
ตัวเรือประดับด้วยไม้แกะสลักเป็นรูปต่างๆ ที่เป็นตัวแทนของบรรพบุรุษที่มีบทบาทสำคัญหลายๆ คน เช่น รูปนกเกาะหัวเรือซึ่งหมายถึง “โต๊ะบุหรง” บรรพบุรุษของชาวอูรักลาโวยที่สามารถห้ามลมห้ามฝนได้ ลายฟันปลา หมายถึง “โต๊ะบิกง” บรรพบุรุษที่เป็นฉลาม ลายงูจะหมายถึง “โต๊ะอาโฆะเบอราไตย” รวมไปถึงตุ๊กตาไม้ที่รับเอาเคราะห์ โรคภัยไข้เจ็บ ทุกข์โศกต่างๆ ของสมาชิกในครอบครัวได้เดินทางไปพร้อมกับเรือ
ตลอด ๓ วันในช่วงวันประเพณีลอยเรือจะมีพิธีการต่างๆ เกิดขึ้นมากมาย เริ่มจากในช่วงเช้าของวันขึ้น ๑๓ ค่ำ ชาวเลจะเดินทางไปยังบริเวณที่จะทำพิธี โดยฝ่ายชายจะสร้างและซ่อมที่พักชั่วคราวขึ้นในขณะที่ฝ่ายหญิงจะช่วยกันทำขนม หลังจากนั้นในช่วงเย็นทุกคนจะมาร่วมกันที่ศาลบรรพบุรุษเพื่อนำอาหารไปเซ่นไหว้บรรพบุรุษเพื่อเป็นการบอกกล่าวให้บรรพบุรุษมาร่วมพิธีลอยเรือ

ในเช้าวันขึ้น ๑๔ ค่ำ ผู้ชายจะไปตัดไม้นำมาสร้างเรือ ส่วนผู้หญิงก็จะออกมาร้องรำทำเพลงสนุกสนานซึ่งเชื่อกันว่าการร่ายรำนั้นได้บุญ จัดเตรียมขบวนแห่รอรับไม้ที่ฝ่ายชายไปตัดมา แล้วแห่ไปรอบๆ ศาลบรรพบุรุษเพื่อนำกลับมาทำเรือ ที่ชื่อว่า ปลาจั๊ก ช่วงกลางคืนจะมีพิธีฉลอง มีการรำรอบเรือเพื่อบูชาวิญญาณบรรพบุรุษประกอบเสียงดนตรี และในเวลาเที่ยงคืนโต๊ะหมอจะทำพิธีฉลองเรือและพิธีสาดน้ำ (เลฮุบาเลฮ) และจะเริ่มพิธีอีกครั้งตอนเช้าตรู่วันขึ้น ๑๕ ค่ำ ก่อนที่จะนำเรือไปลอยในจุดที่เรือจะไม่ลอยกลับเข้าฝั่งอีก
หลังจากเสร็จพิธีลอยเรือแล้ว ในช่วงบ่ายผู้ชายออกไปตัดไม้อีกรอบหนึ่งและหาใบกะพร้อเพื่อทำไม้กันผีสำหรับพิธีฉลองตอนกลางคืน และเมื่อใกล้สว่างโต๊ะหมอจะทำพิธีเสกน้ำมนต์ทำนายโชคชะตา และสะเดาเคราะห์ให้กับผู้ที่เข้าร่วมพิธีก่อนจะอาบน้ำมนต์ และแยกย้ายกันกลับบ้านโดยจะมีการปักไม้กันผีไว้รอบๆ หมู่บ้านด้วย

ประเพณีการเดินเต่า

หากย้อนกลับไปในอดีต ตามชายหาดของทะเลฝั่งอันดามันที่มีแนวหาดทอดตัวยาว ในฤดูวางไข่ของเต่าทะเล จะมีแม่เต่าทะเลขึ้นมาวางไข่บนชายหาดเป็นจำนวนมาก ถือเป็นช่วงการเริ่มต้นของประเพณีเดินเต่า หรือการเดินหาไข่เต่าของชาวประมงในแถบฝั่งทะเลอันดามันของไทย (ปัจจุบันประเพณีนี้ถูกยกเลิกไปแล้วเพื่อเป็นการอนุรักษ์พันธุ์เต่าทะเล)
ที่มาของประเพณีนี้มาจากวิถีชีวิต การดำรงชีพของชาวประมงชายฝั่งด้านทะเลอันดามันที่หาอาหารจากการจับสัตว์น้ำเป็นอาหาร ซึ่งในช่วงเวลานั้นตรงกับฤดูวางไข่ของเต่าทะเล แม่เต่าทะเลจะขึ้นมาวางไข่บนชายหาดเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะที่จังหวัดพังงา ที่มีชายหาดยาวร่วม ๑๐๐ กิโลเมตร ทำให้ชายหาดกลายเป็นแหล่งอาหารที่อุดมสมบูรณ์ของชาวประมง
ในคืนวันแรม ๑ ค่ำ เดือน ๑๑ เป็นต้นไป (ปลายเดือนตุลาคมไปจนถึงต้นเดือนกุมภาพันธ์) จะเป็นช่วงเวลาสำคัญของแม่เต่าทะเลที่จะขึ้นมาวางไข่ตามชายหาดต่างๆ ในแถบฝั่งทะเลอันดามัน โดยธรรมชาติของเต่าทะเลอย่างหนึ่งคือ มักจะขึ้นมาวางไข่ในจุดเดิมๆ เป็นประจำทุกปี ปีหนึ่งจะขึ้นมาวางไข่ประมาณ ๔ ครั้ง และหลังจากวางไข่ครั้งแรกไปแล้ว ๑ – ๒ สัปดาห์ แม่เต่าตัวเดิมก็จะขึ้นมาวางไข่ซ้ำอีกครั้ง ตำแหน่งอาจจะเคลื่อนออกไปเล็กน้อย

การเดินหาไข่เต่านั้นจะเริ่มกันในตอนกลางคืน ตั้งแต่ช่วงพลบค่ำไปจนถึงสว่าง ซึ่งหากเป็นคนที่ไม่ชำนาญ บางครั้งเดินหาทั้งคืนก็ไม่เจอหลุมไข่เต่าแม้แต่หลุมเดียว
ชาวประมงเก่าแก่บางคนจะมีเทคนิคการคำนวนช่วงเวลาแม่เต่าขึ้นมาไข่ที่เรียกกันว่า “ผูกเต่า” ที่อาศัยการสังเกตธรรมชาติของแม่เต่าทะเลก็จะทราบได้ว่าหลุมไข่เต่าอยู่ตรงไหน สามารถคำนวนวันเวลาน้ำขึ้นน้ำลงเป็น จะสามารถคำนวนหาวันที่แม่เต่าจะขึ้นมาวางไข่ได้อย่างแม่นยำ ทำให้ไม่ต้องออกตะเวนตามชายหาด แค่นั่งรออยู่กับบ้านเมื่อถึงเวลาก็เดินออกไปรอเก็บไข่เต่าในจุดนั้นได้เลย เช่น
การสังเกตดวงดาว โดยสังเกตจากดาวเต่า เมื่อไหร่ที่ดาวเต่าหันหัวลงทะเล คนโบราณเชื่อว่าแม่เต่าจะเริ่มขึ้นมาวางไข่ในช่วงเวลานี้ หรือให้สังเกตจากการขึ้นลงของน้ำทะเล หากน้ำทะเลขึ้นหรือลงเพียงครึ่งฝั่ง จะเป็นเวลาที่แม่เต่าขึ้นมาวางไข่
แต่การสังเกตหรือมองหาหลุมไข่เตานั้นไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะถึงแม้ว่าจะรู้ดีว่าแม่เต่าจะขึ้นมาวางไข่ในจุดเดิมๆ ทุกปี (ยกเว้นว่าแม่เต่าถูกรบกวนก็จะมีการย้ายจุดวางไข่ไป) บางครั้งแม่เต่าก็จะทำหลุมหลอกไว้เช่นกัน การเก็บไข่เต่าจึงต้องอาศัยการสังเกตธรรมชาติของแม่เต่าหลายๆ อย่าง เช่น
แม่เต่าจะขึ้น และลงจากชายหาดคนละทาง จะไม่ขึ้นและลงในเส้นทางเดียวกัน โดยจะต้องสังเกตจากรอยคลานขึ้นจากทะเลของแม่เต่าที่จะทิ้งรอยตะกุยทรายไว้บนชายหาดเป็นทางยาวขึ้นไป และจะเห็นรอยสับขาเป็นทางยาวลงไปอีกทางหนึ่งเสมอ
สังเกตจากลักษณะทราย พื้นทรายที่ผิดปกติไป เช่น บริเวณหลุมไข่จะมีเศษทรายกระจายไปรอบๆ ทรายที่ถูกขุดขึ้นมาเปียกจับตัวเป็นก้อนเล็กๆ หรือการทดสอบง่ายๆ เช่นการเอาไม้เสียบไปบนพื้นทรายประมาณ 2 ฟุต ที่สงสัยว่าจะเป็นหลุมวางไข่เต่า แทงลงไปง่ายหรือมีกลิ่นคาวติดปลายไม้ขึ้นมาก็สงสัยได้ว่าข้างล่างอาจจะเป็นหลุมวางไข่เต่า หรือสังเกตดูว่าพื้นทรายตรงไหนที่มีแมลงวันตอม แสดงว่าตรงนั้นอาจจะเป็นหลุมวางไข่ เนื่องจากแมลงวันจะมาตอมคาวเมือกของเต่า

แต่ถ้าทั้งสามวิธีใช้ไม่ได้ผลอีก ชาวบ้านก็จะมีวิธีสังเกตอีกวิธีหนึ่ง โดยชาวบ้านจะสังเกตพื้นทรายบริเวณที่มีไอหรือควันขึ้นในช่วงเช้าๆ ไอหรือควันที่ว่านี้เกิดจากปฏิกริยาของไข่เต่าที่มีอุณหภูมิสูงกว่าทราย
ประเพณีเดินเต่าจึงเป็นประเพณีที่สะท้อนให้เห็นถึงวิถีชีวิตและภูมิปัญญาของคนในท้องถิ่นในการพึ่งพาอาศัยอาหารจากธรรมชาติ แต่ปัจจุบันประเพณีนี้ไม่ได้มีการปฏิบัติสืบต่อกันอีกแล้วเพื่อเป็นการอนุรักษ์เต่าทะเลตามธรรมชาติ และถือว่าการเก็บไข่เต่าเป็นการกระทำที่ผิดกฏหมายต้องถูกดำเนินคดีทางกฏหมาย ปรับเปลี่ยนเป็นการอนุรักษ์เต่าทะเลแทน
ประเพณีเเห่นก

ประเพณีแห่นก การละเล่นทางพื้นเมืองทางภาคใต้โดยเฉพาะจังหวัดชายแดนภาคใต้ ปัตตานี นราธิวาส ยะลา เป็นการละเล่นที่ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับศาสนาหรือความเชื่อใดๆ หากแต่เป็นงานรื่นเริงที่จัดขึ้นเป็นครั้งคราวเพื่อความบันเทิง บางครั้งก็จัดขึ้นเพื่อเป็นการต้อนรับแขกบ้านแขกเมือง หรือแสดงความคารวะแก่ผู้ใหญ่ที่นับถือ บ้างก็ว่าประเพณีแห่นกนี้จะจัดเพื่อเป็นความบันเทิงในพิธีเข้าสุนัต หรือ มาโซยาวี
ในงานมีการตั้งพิธีสวดมนต์ทางไสยศาสตร์ เพื่อขับไล่หรือขจัดปัดเป่าทุกข์โศกโรคภัยให้หมดสิ้นไป พบแต่ความสุข ความเจริญก้าวหน้าในชีวิต ในเวลาเดียวกันก็ยังเป็นการละเล่นที่ส่งเสริมให้เกิดความรักความสามัคคีในชุมชน เนื่องจากคนในชุมชนมีโอกาสได้ออกมาร่วมกิจกรรมของชุมชน และยังเสริมในเรื่องการยึดเหนี่ยวจิตใจได้อีกด้วย เพราะในงานจะมีการปัดเป่าสิ่งชั่วร้ายออกไป
นกที่เข้าร่วมในขบวนแห่ประดิษฐ์จากสิ่งของในท้องถิ่น หัวนกทำจากไม้เนื้อเหนียวในท้องถิ่น เช่น ไม้ตะเคียน ไม้กายีร มาแกะเป็นหัวนก ตัวนกใช้ไม้ไผ่ผูกเป็นโครงตัวนกแล้วติดกระดาษรอบโครงไม้ไผ่เป็นขนนก แล้วนำติดคานหาม นำออกมาแห่เป็นขบวน
ตำนานประเพณีแห่นกนั้นมีที่มาหลายที่มาด้วยกัน เช่น ตำนานการประดิษฐ์นกอย่างสวยงาม พร้อมนำออกแห่ทุกๆ ๗ วันเพื่อให้ธิดาองค์สุดท้องของเจ้าเมืองเป็นที่พอพระทัย หรือตำนานเจ้าเมืองป่าวประกาศหาช่างฝีมือมาประดิษฐ์นกตามคำบอกเล่าของชาวประมงที่เห็นพญานกผุดขึ้นจากทะเลแล้วบินหายขึ้นไปยังท้องฟ้า จนได้เป็นนก ๔ ตัว
บ้างก็ว่าประเพณีแห่นกนี้สืบเนื่องมาจากในสมัยก่อน ภาคใต้ไม่ค่อยมีการละเล่นพื้นบ้าน ชาวใต้ที่ออกมานั่งรับแสงแดดในตอนเช้า มองเห็นแสงแรกของดวงอาทิตย์สะท้อนกับปุยเมฆ รูปร่างดูคล้ายนกมีงวงช้างออกมา ชาวใต้จึงจินตนาการสัตว์ดังกล่าวออกมาให้เป็นนกบุหรงซีงอ
นกที่ชาวบ้านนิยมนำมาทำร่วมขบวนแห่ จะเป็นนกที่มีลักษณะพิเศษๆ ๔ ตัวด้วยกัน
๑. นกกาเฆาะซูรอหรือนกกากะสุระ หรือนกการเวก นกสวรรค์ที่มีรูปร่างหน้าตาสวยงาม บินสูง ศิลปินจะประดิษฐ์นกให้มีเอกลักษณ์พิเศษ เช่น มีหงอนสูงแตกเป็นสีแฉกก ลวดลายกนกสวยงาม ตานกแกะสลักจากไม้ทั้งท่อน ประดับด้วยลูกแก้วสีกลอกไปมาได้ มีงายื่นออกมาจากปาก
๒.นกกกรุดา หรือครุฑ แต่ความเชื่อของชาวปักษ์ใต้กล่าวเอาไว้ว่านกกรุดา หรือครุฑมีอาถรรพ์ ผู้ที่ประดิษฐ์มักจะเกิดเจ็บไข้ได้ป่วย จึงไม่ค่อยนิยมทำนกชนิดนี้ขึ้นมาร่วมขบวนแห่
๓.นกบือเฆาะมาศ หรือนกยูงทอง ลักษณะสวยงามคล้ายกับนกเฆาะซูรอ ตกแต่งอย่างประณีตสวยงาม และใช้เวลานาน เนื่องจากชาวปักษ์ใต้ยกย่องนกยูงทองและไม่บริโภคเนื้อนกชนิดนี้
๔.นกบุหรงซีงอ หรือนกสิงห์ รูปร่างหน้าตาคล้ายราชสีห์ตามคติความเชื่อที่ว่านกชนิดนี้มีตัวเป็นนก หัวเป็นราชสีห์ มีเขี้ยวน่าเกรงขาม
ประเพณีการแห่นกนั้นนอกจากที่ให้ความสนุกสนานแล้ว ยังให้คติ ความเชื่อ ความรัก ความสามัคคี และความเชื่อในการยึดเหนี่ยวจิตใจของผู้ร่วมพิธีในการปัดเป่าสิ่งชั่วร้าย ต่าง ๆ และเป็นการอนุรักษ์ให้ประเพณีแห่นกยังคงอยู่สืบเนื่องต่อไป
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น